หนึ่งในปัญหาที่ผู้สูงอายุไม่อยากเจอมากที่สุด คือ อาการหูตึง แม้จะไม่ใช่อาการที่อันตรายเท่ากับโรคอื่น ๆ แต่ก็สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งปัญหาเรื่องการสื่อสารและการสูญเสียความมั่นใจจนอาจนำไปสู่ภาวะเครียดและซึมเศร้าได้
หูตึงคืออะไร
หูตึง คือ ภาวะที่เราได้ยินลดลง หรือได้ยินแต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โดยกลุ่มเสี่ยงที่พบภาวะหูตึง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีประวัติการฟังเสียงดัง
สาเหตุของหูตึง
โดยส่วนใหญ่ภาวะหูตึงเกิดจากการเสื่อมของประสาทหู การฟังเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา
อาการของหูตึง
คนที่หูตึงมักจะสื่อสารกับผู้อื่นได้ยากขึ้น ต้องถามซ้ำ ๆ หันหน้าไปหาคนพูดเพื่อฟังใกล้ ๆ เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเสียงดังขึ้น
วิธีตรวจเช็กอาการหูตึง
ในเบื้องต้นทำได้โดยการนำนิ้วชี้และนิ้วโป้งมาถูกันใกล้ ๆ หู หากไม่ได้ยินแสดงว่าอาจมีภาวะหูตึง แต่ ถ้าอยากตรวจการได้ยินควรทำอย่างไร? ศึกษาเพิ่มได้ที่บทความรวมถึงสามารถสังเกตเบื้องต้นว่ามีการได้ยินที่ผิดปกติด้วยตนเองตามคำแนะนำเบื้องต้นได้
4 ความเชื่อเรื่องหูตึง เรื่องไหนจริงหรือหลอก
ผู้สูงอายุหลายคนอาจมีอาการหูตึงตามอายุที่มากขึ้น บางครั้งอาจได้รับข้อความที่แชร์ต่อกันมาว่าทำแบบนี้แล้วจะแก้อาการหูตึงได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเชื่อไหนจริงหรือหลอก
ความเชื่อที่ 1 หูตึงเกิดจากอายุที่มากขึ้น
ความเชื่อนี้จริง เพราะหูชั้นในและเส้นประสาทหูจะเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว 1 ใน 3 ของคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสที่จะหูตึงได้
ความเชื่อที่ 2 หูตึง กินยาแก้อักเสบ รักษาได้
ความเชื่อนี้ไม่จริง เพราะหูตึงเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมตามวัย การกินยาแก้อักเสบจึงไม่สามารถช่วยได้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักต้องกินยาหลายชนิดเพื่อรักษาโรคที่เป็นอยู่ ยาแก้อักเสบอาจช่วยได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่หู แต่ควรระมัดระวังเพราะยาแก้อักเสบบางชนิดอาจเป็นพิษต่อหูได้
ความเชื่อที่ 3 หูตึงใช้เครื่องช่วยฟังได้
ความเชื่อนี้จริง เครื่องช่วยฟังทำหน้าที่ช่วยขยายเสียงทำให้การได้ยินดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เครื่องช่วยฟังสามารถช่วยได้ในกรณีที่ไม่ได้หูตึงมากหรือเป็นมานาน ผู้ที่ต้องการใช้เครื่องช่วยฟังควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กการได้ยินในแต่ละระดับ และใส่เครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับการได้ยินของตัวเอง เพราะหากไปซื้อมาใช้เองอาจไม่พอดีกับหูและไม่ได้มาตรฐาน
ความเชื่อที่ 4 หูตึงผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้
ความเชื่อนี้ไม่จริง เพราะหูตึงเกิดจากการเสื่อมตามอายุของหูชั้นใน การผ่าตัดจึงไม่สามารถช่วยได้ แต่หากคนไข้มีอาการหูตึงชนิดมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีเยื่อแก้วหูทะลุ มีน้ำขังในหูชั้นกลาง หรือมีความผิดปกติของกระดูกหู กรณีนี้การผ่าตัดรักษาอาจช่วยได้ เช่นเดียวกับโรคหูหนวกที่ใช้การผ่าตัดประสาทหูเทียมได้ แต่การผ่าตัดไม่สามารถรักษาอาการหูตึงได้ เพราะเป็นอาการที่เป็นแล้วเป็นเลย แต่อาจใช้เครื่องช่วยฟังบรรเทาอาการได้
วิธีลดความเสี่ยงอาการหูตึง
หากไม่อยากหูตึงก่อนเวลาอันควร มีข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการหูตึง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดังหรือการใส่หูฟัง หากจำเป็นต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงดังควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง
- ระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อในหู หากมีการติดเชื้อควรรีบรักษา
- หลีกเลี่ยงการกระแทกบริเวณหูหรือศีรษะ
- ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกชนิด เนื่องจากยาบางชนิดทำให้เกิดการได้ยินผิดปกติได้
- คุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
การรักษาหูตึง
ปัจจุบันอาการหูตึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อชะลอการเสื่อมของเส้นประสาทหูได้
หูตึงเป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากเราดูแลสุขภาพดีก็สามารถชะลอและลดความเสี่ยงการเกิดหูตึงก่อนเวลาอันควรได้
ข้อมูลโดย
อ. พญ.เนาวรัตน์ ตั้งบำรุงธรรม
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel