ไม่อยากป่วยเป็น “อัมพฤกษ์ อัมพาต” ตอนแก่ ต้องหมั่นดูแลตัวเอง
หน้าแรก
ไม่อยากป่วยเป็น “อัมพฤกษ์ อัมพาต” ตอนแก่ ต้องหมั่นดูแลตัวเอง

ไม่อยากป่วยเป็น “อัมพฤกษ์ อัมพาต” ตอนแก่ ต้องหมั่นดูแลตัวเอง

อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการแขนขาอ่อนแรง ช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย หากรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต จึงเป็นอาการป่วยที่หลายคนกลัว แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยดูแลตัวเองให้ดีเพื่อลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคลงได้

อัมพฤกษ์-อัมพาต คืออะไร?

อัมพฤกษ์-อัมพาต คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นทันทีทันใดจากเนื้อสมองขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงได้น้อยลงจากหลอดเลือดแดงที่ ตีบ, อุดตัน หรือ แตก ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย โดยมีอาการแสดงอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง ส่วนในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) จะมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นจะมีอาการมากหรือน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งและบริเวณของสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง

อาการแสดงของอัมพฤกษ์-อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง)

อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่พบ ได้แก่ หน้าเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก การมองเห็นผิดปกติ  เวียนศีรษะ เดินเซ ซึมลง หรือปวดศีรษะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ประเภทและสาเหตุของอัมพฤกษ์-อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) ได้แก่

1.หลอดเลือดสมองตีบ,อุดตัน

คือ หลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองมีการตีบหรือมีการอุดตัน จะส่งผลทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นผลให้สมองส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น สูงอายุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง มีภาวะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบจะเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

2. หลอดเลือดสมองแตก

คือ อาการที่หลอดเลือดแดงในสมองฉีกขาด ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง  ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น ภาวะความดันโลหิตสูง,หลอดเลือดสมองโป่งพอง, หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของอัมพฤกษ์-อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น (มักพบในคนวัย 45 ปีขึ้นไป) พันธุกรรม เพศ (มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) เชื้อชาติ เป็นต้น
  2. ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคอ้วน นอนกรน เป็นต้น

การสังเกตเบื้องต้น

อัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภัยเงียบ เพราะมีผู้ป่วยหลายคนที่กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็มีอาการหนักแล้ว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง ว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่ หน้าเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก การมองเห็นผิดปกติ  เวียนศีรษะ เดินเซ ซึมลง หรือปวดศีรษะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่งแล้วอย่ารีรอ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพราะ Time is brain  เวลา คือ สมอง มาโรงพยาบาลเร็ว รักษาเร็วช่วยลดความพิการ การเสียชีวิตลงได้

การป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง)

  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  2. รักษาน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  3. ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  4. งดดื่มสุรา
  5. งดและเลิกสูบบุหรี่
  6. บริโภคอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม
  7. ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ
  8. หากเป็นผู้ป่วยโรคที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหลอดสมอง เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคอ้วน เป็นต้น ต้องรับประทานยาและพบหมอตามนัด
  9. เรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง)
  10. หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

ข้อมูลจาก
พ.ว.นลินรัตน์ ทองนิรันดร์
หัวหน้าหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ฝ่ายการพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์โงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “ทัน “โรคหลอดเลือดสมอง”เพื่อป้องกันอัมพฤกษ์-อัมพาต : Rama Square ช่วง นัด กับ Nurse” ได้ที่นี่

ติดตาม Rama Channel เพื่อรับข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ 
RAMA Channel

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งไทรอยด์มักไม่มีอาการในระยะแรก
มะเร็งไทรอยด์มักไม่มีอาการในระยะแรก แต่หากตรวจพบเร็วสามารถรักษาได้ทันและมีโอกาสหายสูง รู้เท่าทันเพื่อดูแลตัวเองและคนที่คุณรัก
บทความสุขภาพ
03-06-2025

1

รู้ทัน ถุงน้ำในตับอ่อน เสี่ยงทุกวัย ไม่เลือกเพศ
ถุงน้ำในตับอ่อนเป็นโรคเงียบที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย อาจไม่มีอาการแต่เสี่ยงกลายเป็นมะเร็ง รู้ทันเพื่อวางแผนตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที
บทความสุขภาพ
29-05-2025

11

แพทย์เตือน ! ห้าม ล้างไก่สด ก่อนปรุง
การล้างไก่สดก่อนปรุงอาจกระจายเชื้อแบคทีเรียอย่างแคมไพโลแบคเตอร์ไปยังอ่างล้างจานและเครื่องครัว เสี่ยงปนเปื้อนอาหารและทำให้เกิดโรคท้องร่วง
บทความสุขภาพ
28-05-2025

11

โรคพยาธิในช่องคลอด-ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในร่างกายผู้หญิง
โรคพยาธิในช่องคลอดเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว มักมีอาการตกขาวมีกลิ่น คัน แสบ หากไม่รักษาอาจลุกลามและส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง
บทความสุขภาพ
25-05-2025

12

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
0 2201 1000
0 2200 3000

งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0 2201 0182
โทรสาร 0 2201 2127
อีเมล ramachannel24@gmail.com

© 2024, RAMA CHANNEL