ไม่ต้องผ่าตัด
หน้าแรก
ไม่ต้องผ่าตัด ก็สามารถเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้
ไม่ต้องผ่าตัด ก็สามารถเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้

ปัจจุบันการรักษามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีทดแทนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าอก มีความแม่นยำปลอดภัย และให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้นให้เหลือน้อยลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

เปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด รักษาอะไร

การเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยในการรักษาภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis) โดยลิ้นนี้เปรียบเสมือนประตูทางออกของหัวใจ ระหว่างหัวใจห้องซ้ายกับร่างกายทั้งหมด เกิดจากอายุที่มากขึ้นหรือโรคบางโรคที่ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้นหรือแข็งขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดออกได้อย่างที่ควรจะเป็นหรือมีภาวะตีบ ทำให้เลือดที่ไหลเวียนผ่านลิ้นนี้มีปัญหา ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักตามมา และเกิดผลกระทบอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาต่อร่างกาย

อาการของภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

อาการของภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ได้แก่ เหนื่อยหรืออาการน้ำท่วมปอด หน้ามืดเป็นลมตอนออกกำลังกาย และอาการแน่นหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีอาการครบทั้ง 3 อาการ โดยผู้ป่วยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะเบื้องต้น แต่จะมีอาการเมื่อลิ้นหัวใจตีบมาก หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาตั้งแต่ระยะเบื้องต้น จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันสั้น จึงควรรีบรักษาตั้งแต่เริ่มตีบระยะแรก

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าภาวะนี้ไม่มีอาการแสดงในระยะเบื้องต้น แต่จะสามารถรู้ได้จากการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย และพบว่าเสียงหัวใจมีความผิดปกติค่อนข้างชี้เฉพาะ กระทั่งได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำอัลตร้าซาวด์เอคโคคาดิโอแกรมด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อดูว่าลิ้นหัวใจตีบมากน้อยแค่ไหน โดยจะมีพารามิเตอร์เป็นตัวบ่งชี้ว่าลิ้นหัวใจมีภาวะตีบที่ควรได้รับการรักษา ซึ่งในอดีตสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งจะทำการเลาะลิ้นหัวใจที่ตีบออกแล้วเอาลิ้นหัวใจใหม่ใส่เข้าไปแทน

หลักการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ผ่าตัด

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่ เพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการใช้สายสวน หลักการคล้ายกับการทำบอลลูนหัวใจ โดยลิ้นหัวใจจะมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งพับอยู่ทางด้านบนของบอลลูนเพื่อให้มีขนาดเล็ก จากนั้นทำการสอดเข้าไปในเส้นเลือดแดงที่ขา (หากเส้นเลือดแดงที่ขามีขนาดใหญ่พอ) จากนั้นนำลิ้นหัวใจใหม่ขึ้นไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่แล้วไปที่ลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งจะทำการใส่ลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปทับหรือแทนที่ลิ้นหัวใจเดิม โดยไม่ต้องเอาลิ้นหัวใจเดิมออก ทำให้การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องรู้ขนาดของลิ้นหัวใจเดิมก่อน เพื่อที่จะเลือกขนาดของลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปแทนที่ และทำการเปิด-ปิดได้อย่างเหมาะสม

การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง กรณีที่การรักษาไม่มีปัญหา โดยจะให้ผู้ป่วยดมยาสลบก่อนทำการรักษา ยกเว้นในบางกรณีอาจไม่ต้องดมยาสลบ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ การปฏิบัติการจะทำในห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid Operating Room) ก่อนทำการรักษาแพทย์จะให้คนไข้นอนโรงพยาบาลก่อน 1 วันแล้วทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจในวันรุ่งขึ้น หลังจากทำการรักษาแล้ว แพทย์จะให้คนไข้พักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลอีก 3-4 วัน

ผลการรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบใช้สายสวน

ผลการรักษาจะเทียบเท่ากับการผ่าตัด โดยที่คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ และสามารถเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างทันทีหลังจากทำการรักษา มีระยะการพักฟื้นที่น้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และไม่ต้องมีแผลเป็นจากการผ่าตัดใหญ่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

ข้อดีของการใช้สายสวนเปรียบเทียบกับการผ่าตัด

ขั้นตอนการรักษาไม่ยุ่งยาก เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือคนไข้ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ระยะพักฟื้นและอาการเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

ข้อด้อยของการใช้สายสวนเปรียบเทียบกับการผ่าตัด

เนื่องจากยังเป็นวิธีที่ใหม่ ทำให้ความคงทนของลิ้นหัวใจแบบสอดยังไม่มีข้อมูลมากนัก หรือยังไม่มีอายุเกิน 10-15 ปี  หลังใส่ลิ้นหัวใจใหม่เข้าไป มีโอกาสร้อยละ 10 ที่อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากลิ้นหัวใจที่ใส่เข้าไปอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าลง

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ.แมน จันทวิมล
สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “การเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด : พบหมอรามา ช่วง Meet The Expert” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5