ไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายเป็นภาวะที่ไตมีการทำงานลดน้อยลงกว่าร้อยละ 15 ของปกติซึ่งหน้าที่หลักในการขับของเสียของไตนั้นจะลดลงจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะไม่สามารถรักษาด้วยการคุมอาหารหรือรับประทานยาเหมือนโรคไตระยะอื่น ๆ ได้ จำเป็นที่ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต
อาการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
- อ่อนเพลีย
- อึดอัด หอบ และเหนื่อย
- มีอาการคัน ซีด หรือบวมตามร่างกาย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปัสสาวะออกน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย
- มีการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และฮอร์โมนในร่างกาย
- ไม่สามารถนอนราบได้เนื่องจากร่างกายมีน้ำและเกลือแร่ค้างอยู่ในปอด
วิธีการรักษา ไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย
- ล้างไตทางช่องท้อง
เป็นวิธีการรักษาเลียนแบบมาจากการทำงานของไตที่มีสุขภาพดี โดยใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปฟอกของเสียในเลือด ปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ รวมไปถึงสารเคมีต่าง ๆ จำนวน 4-6 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองต้องมีความระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ การรักษาวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วยและโรคร่วมที่เกิดขึ้น
- ปลูกถ่ายไต
เป็นวิธีการรักษาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ดีที่สุด สามารถยืดอายุผู้ป่วยเฉลี่ย 10-20 ปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไต การดูแลตนเอง และการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยแพทย์จะผ่าตัดนำไตของผู้อื่น จากการบริจาคจากผู้ที่มีชีวิตที่มีผลเลือดเข้ากันได้ เช่น ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือเป็นไตที่ได้รับการบริจาคจากผู้เสียชีวิต ที่อวัยวะภายในยังสามารถใช้งานได้ มาทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตให้กับผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากดภูมิตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้ภูมิต้านทานไปทำลายไตใหม่ที่ใส่เข้าไป
- ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
การนำเลือดส่งเข้าไปที่เครื่องไตเทียมและใช้ตัวกรองในการทำความสะอาด เมื่อเลือดสะอาดแล้วจะย้อนกลับมาสู่ตัวผู้ป่วย การรักษาวิธีนี้ต้องรักษา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 4 ชั่วโมง และผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ทางเลือกรักษา ไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย ที่ต้องรู้ !
ไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตหากไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการแย่ลงและเสียชีวิตในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากสามารถรักษาด้วยการคุมอาหารและให้ยาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคมะเร็งหรือโรคหัวใจและปอดรุนแรง ทางแพทย์จะพิจารณาให้รักษาแบบประคับประคองเท่านั้น
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล