โรค ไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบและติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ ผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายกับไข้หวัด คัดจมูกบ่อย มีน้ำมูกเหนียวข้น และไอมีเสมหะอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังขึ้น
ไซนัสอักเสบ คือ
ไซนัส เป็นโพรงอากาศข้างจมูกที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ มีลักษณะเป็นโพรงบุด้วยเมือกบาง ๆ เมื่อมีการอักเสบหรือติดเชื้อเกิดขึ้น เยื่อบุไซนัสจะบวมมากขึ้นและรูเปิดของไซนัสจะปิดลง ทำให้อากาศระบายไม่ได้ สามารถแบ่งไซนัสอักเสบออกได้ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
- โรคไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์
- โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน จะมีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
- โรคไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง จะมีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการแบบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะ ๆ ได้
สาเหตุไซนัสอักเสบ
- ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน
- โรคภูมิแพ้
- ฟันผุ ติดเชื้อที่รากฟัน
- มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน
- ผนังจมูกคด
- โรคริดสีดวงจมูกหรือมีเนื้องอกในโพรงจมูก
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ
- แน่นจมูก คัดจมูก
- มีน้ำมูกข้น น้ำมูกเปลี่ยนสี น้ำมูกเขียว
- น้ำมูกไหลลงคอ
- ไอมีเสมหะตลอดเวลา
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หรือจมูกได้กลิ่นลดลง
- ปวดศีรษะ
- ปวดแน่นบริเวณใบหน้า เช่น ปวดหน้าผาก ปวดหัวคิ้ว ปวดโหนกแก้ม
- อ่อนเพลีย
- มีไข้
- ปวดหู หูอื้อ
- ตาบวม ตาบอดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
การวินิจฉัย ไซนัสอักเสบ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่อาจเสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบและเข้าพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มซักประวัติสอบถามอาการของผู้ป่วย และตรวจภายในของโพรงจมูกเพื่อตรวจอาการบวมของจมูกและใบหน้า โดยอาจใช้วิธีการส่องกล้อง เพื่อให้การวินิจฉัยไซนัสอักเสบเบื้องต้น แต่ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อหาความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสชนิดเรื้อรัง แพทย์อาจมีการตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อจมูกและโพรงจมูกเพื่อหาสาเหตุของโรคและการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติม รวมไปถึงตรวจภูมิแพ้หากสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นไซนัสอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภูมิแพ้
ภาวะแทรกซ้อนไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเป็นภาวะการติดเชื้ออย่างหนึ่งที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนี้
- เชื้ออาจลุกลามไปที่กระบอกตา ส่งผลให้เนื้อเยื่อรอบตาเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการตาบวม ตาพร่ามัว ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
- เชื้อลุกลามไปที่สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีปวดศีรษะ ซึมลง ไม่รู้สึกตัวได้
- ส่งผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เช่น การอักเสบของหูชั้นกลางจนทำให้หูอื้อ เยื่อบุคออักเสบ กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
วิธีการรักษา
การรักษา ไซนัสอักเสบ บางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และบางชนิดอาจมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการควรเข้าพบแพทย์ โดยจะมีวิธีการรักษาหลายรูปแบบ ดังนี้
- รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หากเป็นไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ
- หากผู้ป่วยมีอาการไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง ทางแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาพ่นจมูกสเตียรอยด์
- รักษาด้วยการผ่าตัด หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน หรือไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการใช้ยาได้ แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านจมูก ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัยและได้ผลดี
วิธีดูแลเมื่อเป็น ไซนัสอักเสบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศไม่บริสุทธิ์ เช่น มีฝุ่น ควัน สารเคมี
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
- งดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ใช้ยาให้ถูกต้องและสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง
ข้อมูลจาก
อ. พญ.นวลวรรณ ลีลาภัทรพันธุ์
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel