บทความรามา_ ไข้หวัด
หน้าแรก
ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระบาด ถึงตายถ้าไม่ป้องกัน

ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระบาด ถึงตายถ้าไม่ป้องกัน

อีกหนึ่งโรคที่มักมีการระบาดทุกปีเป็นประจำในฤดูฝน นั่นก็คือโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ฟังดูคล้าย ๆ โรคไข้หวัดแต่กลับมีความรุนแรงมากกว่า ยิ่งอยู่ในช่วงระบาดมักมีการรายงานถึงจำนวนคนตายจากโรคนี้แทบทุกปี ปีนี้ก็เช่นกันที่มีสถิติคนตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ไม่น้อยโดยเฉพาะสายพันธุ์ H1N1 มีรายงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าถึงจำนวนผู้ตายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในสายพันธุ์ดังกล่าวและยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

โรคไข้หวัดใหญ่

จะถูกแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ A และสายพันธุ์  B โดยในสายพันธุ์ที่มีชื่อเรียกว่า H1N1 จะถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ A อาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่จะเหมือนกันทุกสายพันธุ์คือมีไข้สูง อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีอาการในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ จาม บางรายอาจมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิธีการสังเกตเพื่อแยกแยะระหว่างไข้หวัดทั่วไปและไข้หวัดใหญ่คือ อาการของไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงกว่าอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป

สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เริ่มต้นขึ้นในปี 2009 มีการระบาดในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างในประเทศเม็กซิโก และประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็มีการระบาดไปทั่วโลก โดยจะระบาดตามฤดูกาลพบในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งมีการระบาดในประเทศไทยหลังจากปี 2009 เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในทุก ๆ ปี

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1

สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย หากผู้ป่วยไอหรือจามแล้วคนปกติเข้าไปใกล้ก็มีโอกาสรับเชื้อได้และเกิดการติดต่อ ดังนั้นในผู้ป่วยโรคดังกล่าวควรป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยการปิดปากเมื่อไอหรือจามและล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือเจลฆ่าเชื้อโรค รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ควรทำหากรู้ตัวว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ที่สำคัญที่สุดผู้ป่วยโรคนี้ไม่ควรออกจากบ้าน หากทำงานหรือเรียนหนังสืออยู่ควรลา เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

การป้องกัน รักษาโรคดังกล่าว

ในคนปกติอย่าพยายามเข้าใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด และไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น การรับประทานควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และกินอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ รวมถึงการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่กระจายอยู่รอบตัว และการฉีดวัคซีนก็ป้องกันได้ดี แต่ในกรณีนี้แพทย์จะเน้นกลุ่มเสี่ยงมากกว่า ในการเข้ารับวัคซีน เพราะในคนปกติมีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำกว่า

ส่วนในผู้ป่วยสิ่งที่ควรทำคือ

ให้สังเกตตัวเองว่าหลังเป็นไข้ 3 วันแล้วมีอาการดีขึ้นหรือแย่ลง หากไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แพทย์จะทำการให้ยารักษา โดยปกติแล้วสำหรับคนที่มีร่างกายแข็งแรงจะสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ให้ระวังในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด หรือในผู้ที่ได้รับยากดภูมิ เมื่อได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน อย่างการติดเชื้อที่คออาจเปลี่ยนไปติดที่ปอดได้ เช่น ในปอดที่ติดเชื้อไวรัสอยู่แล้วอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็อาจทำให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายได้ คนเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกัน และถ้าหากติดเชื้อควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยาภายใน 48 ชั่วโมง การพบแพทย์ได้ทันท่วงทีจะช่วยลดอัตราการตายจากโรคดังกล่าวได้

การรักษาตัววิธีอื่น ๆ ในผู้ป่วย

หลังจากกินยา คือการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และกินอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนั้นควรป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น โดยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ พยายามอย่าออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

สำหรับการรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ

สามารถรับได้ในคนที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับเป็นพิเศษ ได้แก่ คนที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี และในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิ

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “รายการพบหมอรามา | Big Story เฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระบาด” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้อักเสบVSยาฆ่าเชื้อ เหมือนหรือต่าง
ยาแก้อักเสบช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ส่วนยาฆ่าเชื้อใช้กำจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ ทั้งสองชนิดทำงานต่างกันและใช้ในกรณีที่ต่างกัน
บทความสุขภาพ
01-12-2024

1

โรคฝีดาษลิง ไวรัสอันตรายจากลิงสู่คน
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีอาการไข้ ผื่นตุ่มหนอง และปวดเมื่อย พบมากในพื้นที่ที่มีการสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรง
บทความสุขภาพ
30-11-2024

3

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการ สาเหตุ การป้องกัน
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากพฤติกรรมการกินและปัจจัยทางพันธุกรรม อาการเริ่มต้นไม่ชัดเจน ควรตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง
บทความสุขภาพ
29-11-2024

1

ภาวะเบาหวานขึ้นตา อันตรายถึงตาบอดตลอดชีวิต
เบาหวานขึ้นตาเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงทำลายหลอดเลือดในจอประสาทตา เสี่ยงตาบอดถาวร ควรตรวจตาและควบคุมน้ำตาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
บทความสุขภาพ
28-11-2024

-28

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
0 2201 1000
0 2200 3000

งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0 2201 0182
โทรสาร 0 2201 2127
อีเมล ramachannel24@gmail.com

© 2024, RAMA CHANNEL