2โรคเซลิแอค
หน้าแรก
โรคเซลิแอค กับอาการแพ้กลูเตนในเบเกอรี่

โรคเซลิแอค กับอาการแพ้กลูเตนในเบเกอรี่

ในอาหารจำพวกแป้งมักมีโปรตีนที่เรียกว่ากลูเตนรวมอยู่ด้วยเพื่อให้อาหารมีลักษณะเหนียวนุ่ม มีประโยน์ต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่แพ้อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ หรือก่อให้เกิดโรคเซลิแอคตามมา

กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง

ที่มีอยู่ในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เล่ย์ ส่วนมากพบเจอในเบเกอรี่ต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังพบเจอได้ในอาหารอื่นๆ ที่มีแป้งสาลี รวมถึงข้าวไรย์ และข้าวบาร์เล่ย์เป็นส่วนผสม โดยกลูเตนมีประโยชน์ต่อร่างกายในเรื่องของการให้พลังงาน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เหมือนกับโปรตีนชนิดอื่นๆ ทั่วไป

ในคนที่แพ้กลูเตนหากทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไปจะมีอาการที่เด่นชัด คือ

ท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ปวดท้อง ปวดเกร็งในช่องท้อง มีผื่นขึ้น ปวดข้อ ปวดตามตัว ปวดศีรษะ หากเป็นในเด็กอาจโตช้า สมองมึนงง มีอาการขาดสารอาหาร เนื่องจากในคนที่แพ้กลูเตน จะมีการดูดซึมอาหารผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ลำไส้เล็กมีปัญหา

อาการแพ้กลูเตนกับโรคเซลิแอคเป็นคนละโรคกัน

หากเป็นอาการแพ้กลูเตนจะเกิดจากการแพ้อาหาร เหมือนกับการแพ้อาหารอื่นๆ โดยจะแพ้กลูเตนที่อยู่ในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เล่ย์ ระยะเวลาในการแพ้จะเกิดขึ้นทันที

แต่ถ้าหากเป็นโรคเซลิแอคนั้นจะแตกต่างกัน เพราะโรคนี้เกิดจากการแพ้ภูมิตัวเอง ใช้ระยะเวลาในการแพ้นานกว่า โดยจะไม่เกิดทันทีที่ทานอาหาร ซึ่งจะเกิดเมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานหรือสารต่อต้านกลูเตนที่ได้รับ โดยสารต่อต้านกลูเตนจะไปทำลายลำไส้เล็กทำให้การดูดซึมอาหารผิดปกติไป ไม่สามารถดูดซึมอาหารที่บริเวณลำไส้เล็กได้ สารอาหารเหล่านั้น ได้แก่ ธาตุเหล็กและวิตามินชนิดต่างๆ เป็นต้น หากตรวจพบได้เร็วผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียเล็กน้อย แต่ถ้าหากตรวจพบช้า จะมีอาการถ่ายเป็นมันลอย ดูดซึมอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด ร่างกายขาดสารอาหาร และอาจเสียชีวิตได้ด้วย แต่พบได้น้อย ส่วนมากผู้ที่เสียชีวิตมักมีอาการอื่นร่วมด้วย

การเกิดโรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย

แต่ส่วนมากจะตรวจพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ในประเทศไทยโรคดังกล่าวมีน้อย เท่าที่เคยพบจะพบในเด็ก ในผู้ใหญ่ยังไม่เคยพบ และผู้ป่วยส่วนมากเมื่อมีการซักประวัติจะพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าวด้วยเช่นกัน ในประเทศไทยโรคที่พบและมีอาการคล้ายกันคือโรค Tropical sprue อาการคือท้องเสีย ถ่ายเป็นมันลอย ปวดท้อง น้ำหนักลด ซึ่งคล้ายกันกับโรคเซลิแอค โดยโรคนี้จะเกิดในเขตร้อน สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจพบหลังการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

สำหรับการแยกแยะระหว่างอาการแพ้กลูเตนและโรคเซลิแอค

คือในคนที่แพ้กลูเตนมักมีการแพ้อาหารอย่างอื่นร่วมด้วย และเกิดขึ้นเมื่อรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไป แต่เซลิแอคต้องให้เวลาร่างกายสร้างภูมิต้านกระทั่งร่างกายแพ้ภูมิต้านทานของตัวเองเสียก่อน ซึ่งใช้เวลามากกว่าในการแสดงอาการแพ้

สำหรับคนที่แพ้กลูเตนและในคนที่เป็นโรคเซลิแอค สิ่งที่สามารถรักษาอาการแพ้ได้คือ

การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตน ร่างกายก็จะดีขึ้นเองและหายเป็นปกติได้ในที่สุด แต่ถ้าหากได้รับเข้าไปอีกร่างกายก็จะแสดงอาการใหม่ ข้อแนะนำคือในการรับประทานอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคเซลิแอคและคนที่แพ้กลูเตน ควรศึกษาฉลากอาหารให้ดีก่อนว่ามีส่วนผสมที่มีกลูเตนอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น อาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม เป็นต้น ที่ผู้ป่วยภาวะดังกล่าวต้องหลีกเลี่ยง

 

ข้อมูลจาก
อ. พญ. ศุภมาส เชิญอักษร
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “โรคเซลิแอค กับอาการแพ้กลูเตนในเบเกอร์รี่ : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

RAMA Channel

บทความที่เกี่ยวข้อง

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เกิดอาการปวดหน้าเท้า
อาการปวดหน้าเท้าอาจเกิดจากรองเท้าไม่พอดี น้ำหนักตัว หรือการใช้งานเท้าเกินพอดี รู้วิธีป้องกันและบรรเทาอาการอย่างถูกต้อง
บทความสุขภาพ
19-06-2025

2

กระเพาะทะลุ อาการโหดที่ไม่ควรมองข้าม รู้เร็ว รักษาได้ ไม่ต้องทนเจ็บ!
กระเพาะทะลุเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตราย เจ็บท้องเฉียบพลัน แน่นท้อง คลื่นไส้ ต้องรีบรักษาโดยเร็ว รู้ทันอาการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
บทความสุขภาพ
13-06-2025

4

มะเร็งไทรอยด์มักไม่มีอาการในระยะแรก
มะเร็งไทรอยด์มักไม่มีอาการในระยะแรก แต่หากตรวจพบเร็วสามารถรักษาได้ทันและมีโอกาสหายสูง รู้เท่าทันเพื่อดูแลตัวเองและคนที่คุณรัก
บทความสุขภาพ
03-06-2025

11

รู้ทัน ถุงน้ำในตับอ่อน เสี่ยงทุกวัย ไม่เลือกเพศ
ถุงน้ำในตับอ่อนเป็นโรคเงียบที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย อาจไม่มีอาการแต่เสี่ยงกลายเป็นมะเร็ง รู้ทันเพื่อวางแผนตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที
บทความสุขภาพ
29-05-2025

15

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
0 2201 1000
0 2200 3000

งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0 2201 0182
โทรสาร 0 2201 2127
อีเมล ramachannel24@gmail.com

© 2024, RAMA CHANNEL