โรคสั่น สั่น
หน้าแรก
โรคสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอะไร ?
โรคสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอะไร ?

อีกหนึ่งอาการป่วยที่ยังคงตกเป็นข้อสงสัยของใครหลายคน นั่นก็คือ โรคสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ สั่น โดยไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร วันนี้เราก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องมานำเสนอเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน

โรคสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุเรียกว่า Essential Tremor มีชื่อย่อว่า ET

เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับสมองน้อยที่เรียกว่า Cerebellum (ซีรีเบลลัม) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจึงเกิดอาการสั่น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม กล่าวคือมีความผิดปกติของยีนส์ที่ทำให้เกิดโรค โดย 50% ของผู้ป่วยมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> “โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ” อาการความผิดเพี้ยนของระบบประสาท

ส่วนอาการสั่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรค Essential Tremor

มักเกิดจากการตื่นเต้น ตกใจ หรือพบได้ในคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของโรคหอบหืด, ถุงลมโป่งพอง และกลุ่มโรคประสาทอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้เช่นกัน และถ้าหากมีอาการ สั่น ร่วมกับอาการเซจะแสดงออกถึงกลุ่มโรคประสาทที่ไม่ใช่ Essential Tremor

  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีอาการสั่นขณะที่ยกมือ นอกเหนือจากอาการอื่นของไทรอยด์
  • โรคหอบหืดหรือถุงลมโป่งพอง ที่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมเช่นยาพ่นในกลุ่มที่เรียกว่า Beta-2 ก็ทำให้เกิดอาการมือสั่นได้

อาการ โรคสั่น สามารถพบได้ในหลายบริเวณ ได้แก่ มือ ขา ศีรษะ และเสียง

แบ่งอาการสั่นออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

  • สั่นขณะที่อยู่นิ่งๆ (Resting Tremor) มักพบการสั่นที่บริเวณมือและขาเป็นส่วนใหญ่ โดยข้างใดข้างหนึ่งจะมีอาการสั่นที่ชัดเจนกว่าอีกข้างหนึ่ง อาการในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับโรคพากินสัน
  • สั่นขณะยกมือขึ้น (Postural Tremor) โดยจะสั่นขณะที่เคลื่อนไหว มีสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่ การได้รับยา การได้รับคาเฟอีน หรือพบในคนไข้ที่ป่วยเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรค Essential Tremor ก็จะมีอาการสั่นในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน
  • อาการสั่นที่เกี่ยวกับระบบการทรงตัวในสมองน้อยหรือ Cerebellum (ซีรีเบลลัม) ที่ผิดปกติ โดยจะสั่นเวลาที่มีการเคลื่อนไหวของมือไปแตะกับวัตถุ และสั่นมากเวลาที่มือหรือนิ้วเข้าใกล้วัตถุ กลุ่มนี้เรียกว่า Essential Tremor เช่นกัน

ในส่วนของอาการของ โรคสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุหรือโรค ET สามารถเกิดได้กับกลุ่มคนทุกช่วงอายุ

โดยจะเกิดกับคนที่มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นนี้มาก่อน ช่วงเวลาที่เกิดอาการสั่นในกลุ่มของโรค ET คือจะสั่นในขณะที่เคลื่อนไหวหรือยกมือขึ้น เช่น สั่นขณะที่กำลังจะถือแก้วน้ำ สั่นขณะที่กำลังจะถือช้อนตักข้าว เป็นต้น แต่ถ้าหากอยู่นิ่งๆ จะไม่เกิดอาการสั่นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ รวมถึงการได้รับสารกระตุ้นบางอย่างก็ทำให้เกิดอาการสั่นมากขึ้น เช่น คาเฟอีน แต่มีข้อยกเว้นสำหรับอาการสั่นในกลุ่มของโรค ET คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้อาการสั่นลดลง แตกต่างจากอาการสั่นทั่วไป

การแยกแยะอาการสั่นระหว่างโรค ET และโรคพากินสัน

คือถ้าหากเป็นโรคพากินสันจะเกิดอาการสั่นขณะอยู่นิ่งๆ แต่ในกลุ่มโรค ET จะสั่นเมื่อเคลื่อนไหวหรือยกมือขึ้น แต่ที่ทั้งสองโรคนี้มีลักษณะเหมือนกันก็คือการสั่นเมื่อรู้สึกเครียด ตื่นเต้นหรือตกใจ

ในทางการวินิจฉัยโรค

แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียดเพื่อจำแนกก่อนว่าคนไข้ป่วยด้วยอาการสั่นชนิดใด จากนั้นจะทำการตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุ เช่น เจาะเลือดเพื่อหาในเรื่องของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น รวมถึงซักประวัติคนในครอบครัว และประวัติการใช้ยาก่อนหน้านั้น

ในกลุ่มผู้สูงอายุแม้ไม่ได้เป็นโรค ET ก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้

โรคสั่น ซึ่งดูคล้ายกับโรค ET ทำให้แพทย์ต้องรู้ก่อนว่าคนไข้มีการใช้ยาก่อนหน้านั้นหรือไม่และชนิดไหนบ้าง เพราะตัวยาบางชนิดก็ส่งผลให้เกิดอาการสั่น เช่น ยาขยายหลอดลม ยาทางระบบประสาทหรือทางจิตเวชต่างๆ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ในคนไข้บางรายอาจมีอาการสั่นหลายชนิดรวมกัน ซึ่งเป็นอาการทางประสาทที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

การหลีกเลี่ยงอาการสั่นด้วยโรค ET

ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นผลมาจากพันธุกรรม เป็นปัจจัยภายในร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่ทำได้คือหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้นทำให้เกิดอาการสั่นได้ อย่างการงดสารกระตุ้นต่างๆ เช่น คาเฟอีน ยาบางชนิด

แต่ถ้าผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องใช้ยาบางชนิดที่มีคุณสมบัติกระตุ้นให้เกิดอาการสั่น ก็ต้องพิจารณาถึงประโยชน์และโทษเปรียบเทียบกัน เช่น ในผู้ป่วยด้วยโรค ET ซึ่งมีอาการป่วยด้วยโรคหอบหืดร่วมด้วย หากรับประทานยาขยายหลอดลมเข้าไปจะเกิดอาการสั่น แต่ถ้าหากอาการสั่นนั้นไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงและเมื่อยาหมดฤทธิ์อาการสั่นนั้นก็จะลดลงหรือหายไปเอง ก็สามารถรับประทานยาขยายหลอดลมได้ เพียงแต่ต้องยอมรับในอาการสั่นที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ตามมาให้ได้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดที่ช่วยลดอาการสั่นลงได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

 

ข้อมูลจาก 

ดร. นพ.จรุงไทย เดชเทวพร

สาขาประสาทวิทยา

ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/

Website Rama mahidol : https://www.rama.mahidol.ac.th/

Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8