โรคมะเร็งปอด หนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็น 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด และยังมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคมะเร็งปอดในแต่ละปีสูงมาก ผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาเมื่ออยู่ในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ของโรค เนื่องจากผู้ป้วยบางรายที่เป็นระยะแรกของมะเร็งปอดอาจจะไม่มีอาการผิดปกติได้
สาเหตุการเกิด โรคมะเร็งปอด
- การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่หรือได้สัมผัสสารก่อมะเร็งในบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดชนิด small cell carcinoma และ squamous cell carcinoma
- มีการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายบางชนิดหรือมีการสลับที่ของยีนบางชนิด ที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma เช่น ยีน EGFR, ALK, KRAS, BRAF, HER2, RET, ROS, MET และยีน NTRK ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธ์ุในครอบครัว
- สำหรับเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า ฝุ่น PM 2.5 เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในทางเดินหายใจขึ้น ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ แต่อย่างไรก็ตามสมมติฐานนี้ยังต้องการการวิจัยสนับสนุนอีกมาก
อาการ โรคมะเร็งปอด
อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
สำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น
- มีอาการไอเป็นระยะเวลานาน ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด
- เหนื่อย
- หายใจไม่สะดวก
- มีอาการเบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ
ระยะของโรค
ระยะที่ 1 ระยะต้นที่พบว่าเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด มักไม่มีอาการที่แสดงความผิดปกติ
ระยะที่ 2 ระยะที่มีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดเริ่มออกมาบริเวณต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอก
ระยะที่ 4 ระยะที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง
วิธีการรักษา
วิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดอาจมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและระยะของโรค ได้ดังนี้
ระยะที่ 1 และระยะที่ 2
ใช้วิธีการผ่าตัด หลังจากผ่าตัดจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อประเมินว่าเป็นเซลล์ชนิดใด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีการรักษาเสริมด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ระยะที่ 3
อาจมีการรักษาหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ ผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดแล้วต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทาน รวมไปถึงการใช้รังสีรักษา ลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักจะเป็นการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา อาจมีการรักษาต่อด้วยยากระตุ้มภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วยได้
ระยะที่ 4
ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะแพร่กระจายซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และยืดระยะเวลาการรอดชีวิต การรักษาหลัก ๆ จะมีการใช้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิคุ้มกัน หรือมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ความเหมาะสมกับชนิดของเซลล์มะเร็งปอดแต่ละชนิด รวมทั้งลักษณะทางอณูชีววิทยาของเซลล์มะเร็งปอด และที่สำคัญขึ้นกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย เนื่องจากยาแต่ละชนิดก็จะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันต้องบอกว่ายารักษาโรคมะเร็งปอดแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็น ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิคุ้มกัน มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมากสามารถที่จะช่วยบรรเทาอาการและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
วิธีการดูแลรักษาตนเองให้ห่างไกลจาก โรคมะเร็งปอด
- งดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่
- ดูแลและสังเกตอาการผิดปกติของตนเองเป็นประจำ มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะและสารอาหารครบ 5 หมู่
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการดูแลสังเกตอาการผิดปกติของตนเองอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะเป็นส่วนช่วยให้ห่างไกลจากการเป็นโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้น และหากพบความผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย ให้รีบปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน อย่ารีรอที่จะนัดพบและปรึกษาแพทย์ โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่หากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ และรีบรักษาจะทำให้ผลลัพธ์ในการรักษาดีขึ้น อย่ากลัวกับคำว่า “มะเร็งปอด” อย่ากลัวกับคำว่า “ยาเคมีบำบัด” โรคแต่ละชนิดใช้ยาไม่เหมือนกัน รีบพบแพทย์และเริ่มรักษาให้เร็วจะดีที่สุดและจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก
ข้อมูลจาก
รศ. พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา)
สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล