โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้เป็นลำดับ 6 ทั่วโลกแต่อัตรตาการเสียชีวิตสูง สำหรับในประเทศไทย ผู้ชายพบเป็นอันดับ 8 และผู้หญิงพบเป็นลำดับ 9 ซึ่งพบน้อยกว่า มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ ตับอ่อน และ กลุ่มมะเร็งทางนรีเวช แต่กลับพบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นลำดับ 3 ในผู้ชาย และลำดับ 5 ในผู้หญิง ซึ่งทำให้มักเป็นโรคที่หลายคนอาจมองข้าม เนื่องจากในระยะแรกอาการยังไม่แสดงชัดเจน มักมีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น อาการท้องอืด จุก แน่นท้อง แต่เมื่อพบแล้วจะรักษาหายได้ยาก ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และการป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ บทความจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งกระเพาะอาหาร เพื่อให้คุณสามารถปกป้องสุขภาพของตนเองและคนที่คุณรักได้ดียิ่งขึ้น
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สาเหตุ เกิดจากอะไร
มะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายลักษณะ ทั้งเยื่อบุกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร มะเร็งจีส และ มะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยคือมะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหาร และมะเร็งจีส ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น
การติดเชื้อเอช. ไพโลไร (H. Pylori)
เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะแบบชนิดที่ไม่รุนแรง
การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรัง
การกินอาหารบางอย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง เช่น อาหารปิ้งย่าง รมควัน อาหารแปรรูปบางชนิดโดยเฉพาะที่มีโซเดียมไนเตรตปริมาณมากๆ เป็นต้น ซึ่งการกินอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน อาหารเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งได้
มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือมะเร็งจิสต์ (GIST)
เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ของกระเพาะอาหารเอง ไม่มีสาเหตุในการกระตุ้นอย่างชัดเจน
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการ เป็นอย่างไร
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการระยะแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ มากนัก นอกจากอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาการท้องอืด จุก แน่นท้อง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะขาดการใส่ใจคิดว่าเป็นแค่โรคกระเพาะ ก็เลยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย จนมีอาการมากขึ้นถึงขนาดอาเจียนเป็นเลือด กินไม่ได้ น้ำหนักลดลงเยอะ แล้วค่อยมารับการตรวจ ทำให้เราขาดการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกไป
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
โดยทั่วไป ถ้ามีการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เราต้องแยกก่อนว่าเป็นชนิดไหน
- มะเร็งของเยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปแพทย์จะต้องทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและจะทำการตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ในบริเวณที่ผิดปกติ หลังจากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งก็จะต้องกระเมินดูระยะของโรคว่ามีการแพร่กระจาย หรือลุกลามไปที่ไหนหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาโดยผู้ป่วยอาจจะได้รับการรักษาแตกต่างกันไปตามระยะของโรค เช่น ถ้ามีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองเยอะก็จะให้ยาเคมีบำบัดก่อนแล้วค่อยตามด้วยการผ่าตัด หรือถ้าตรวจพบว่าเป็นระยะเรื่มแรกก็จะแนะนำ ให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการผ่าตัดก่อนเพราะการผ่าตัดในระยะเริ่มแรกจะได้ผลดีและเป็นความหวังเดียวที่จะรักษาให้หายขาดได้
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร ซึ่งก็ยังต้องดูตามระยะว่าเป็นระยะไหน และมีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษา
- มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ถ้ายังเป็นไม่มากและยังไม่มีการแพร่กระจายการผ่าตัดจะทำให้หายขาดได้ ส่วนยาเคมีบำบัดในมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มักจะไม่ค่อยได้ผล
- มะเร็งจีสกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งใต้ชั้นเยื่อบุผิวทางเดินอาหาร และมะเร็งชนิดจีสนี้ มักพบได้บ่อยที่กระเพาะอาหาร และมักรักษาได้ด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกให้หมด ซึ่งถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือ มีการแพร่กระจาย จะต้องให้ยารักษาซึ่งโดยทั่วไปไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด แต่มะเร็งชนิดนี้จะตอบสนองได้ค่อนข้างดีกับยาพุ่งเป้า แต่ยาจะมีราคาแพงซึ่ง ถ้าให้แล้วก้อนมะเร็งลดลง จะทำการผ่าตัดออก เพราะแม้ว่าการให้ยาจะตอบสนองได้ค่อนข้างดี แต่ยาพุ่งเป้าเหล่านี้ อาจจะใช้ได้ผลดีช่วงประมาณ 1-2 ปีแรกแต่ หลังจากนั้นมะเร็งอาจจะปรับตัวเพื่อต่อต้านกับยา อาจจะต้องเพิ่มปริมาณยาหรือเปลี่ยนชนิดของยาไปเรื่อย ๆ
เคสตัวอย่าง ผู้ป่วยรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
มีคนไข้รายหนึ่งมาด้วยเรื่องกินแล้วจุก แน่นท้อง ไปตรวจก็พบว่ามีก้อนอยู่ที่บริเวณกระเพาะอาหาร ก้อนมีขนาดใหญ่ เราได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น ก็พบว่าตัวก้อนใหญ่ประมาณเกือบ 6 เซนติเมตร แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่อื่น ลักษณะนี้รักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งถ้าลักษณะก้อนเนื้อไม่จำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ แค่ตัดเอาก้อนออกก็เพียงพอ คนไข้เลือกวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ทำให้การเจ็บปวดน้อยลง ก็สามารถตัดมะเร็งออกได้
การป้องกัน มะเร็งกระเพาะอาหาร
เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารในกรณีที่เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไม่มีวิธีการป้องกันอย่างชัดเจน แนะนำให้
- ถ้ามีอาการปวดท้องครั้งแรกเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพราะมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่รักษาได้ถ้าเราเจอในระยะแรก
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ระวังการกินอาหารบางชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งซึ่งการที่กินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอาหารแปรรูปอาหารปิ้งย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้การติดเชื้อเอช. ไพโลไร (H. Pylori) พบว่าเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ หากเราเข้าใจและดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี อาการที่พบในระยะแรกอาจไม่รุนแรงและคล้ายคลึงกับโรคกระเพาะอาหารทั่วไป ดังนั้นการสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้เราสามารถป้องกันและรักษาได้ทันเวลา การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ข้อมูลโดย
รศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
สาขาวิชาทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คลิกชมคลิปรายการ “พบหมอรามาฯ : มะเร็งกระเพาะอาหาร สาเหตุ การป้องกันและการรักษา #RamaHealthTalk” ได้ที่นี่
ติดตาม Rama Channel เพื่อรับข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: RAMA Channel
Facebook: รามาแชนแนล Rama Channel
LINE: Ramathibodi
Tiktok: ramachanneltv รามาแชนแนล ช่องของคนรักสุขภาพ