โรคตับแข็งคืออะไร ?
โรคตับแข็งเป็นภาวะของโรคตับเรื้อรังขั้นสุดท้าย ที่เกิดจากมีการอักเสบเรื้อรังของตับทำให้มีการสูญเสียเซลล์เนื้อตับรวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตับไปทำให้เกิดพังผืดในตับปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีภาวะแทรกซ้อนตามมาสาเหตุของโรคตับแข็งมาจากไหน?
โรคตับแข็งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่นไวรัสตับอักเสบบีและซี
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและเป็นเวลานาน
- โรคทางพันธุกรรม เช่น Wilson disease (ความผิดปกติของตับที่ไม่สามารถขับทองแดงออกจากร่างกายได้ทำให้มีการสะสมทองแดงมากเกินไป), Hemochromatosis (ภาวะธาตุเหล็กในร่างกายเกินซึ่งอาจจะเป็นจากโรคทางพันธุกรรมทำให้ไม่สามารถขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายได้หรือเป็นจากการได้รับธาตุเหล็กเกินโดยเฉพาะในคนไทยที่มีโรคเลือดจางธาลัสซีเมียรุนแรงจนต้องได้รับผลิตภัณฑ์เลือดอยู่บ่อย ๆ), cystic fibrosis, alpha one antitrypsin deficiency, glycogen storage disease
- ภาวะไขมันคั่งตับ มักพบในคนอ้วน หรือคนไข้เบาหวาน
- โรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดกับตับ เช่น autoimmune hepatitis, primary biliary cholangitis, primary sclerosing cholangitis
- โรคท่อทางเดินน้ำดีฝ่อตั้งแต่แรกเกิด (Biliary atresia)
- การได้รับยาบางชนิดหรือสมุนไพรบางอย่างที่มีผลต่อตับ
- การมีภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลวเรื้อรัง
- มีการอุดกั้นของหลอดเลือดดำทางออกของตับ
- ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบในถึง 1 ใน 4
อาการของโรคตับแข็งเป็นอย่างไรบ้าง ?
โดยส่วนมากในช่วงแรกของการเกิดโรคแทบไม่พบอาการหรือมีแสดงอาการน้อยมากโดยอาการแสดงก็ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาการ นอนไม่หลับ คันตามตัว ต่อเมื่อการทำงานของตับแย่ลงก็จะมาด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัวตาเหลืองหรือดีซ่าน ท้องมาน เท้าหรือตัวบวม อาเจียนเป็นเลือด หรือน้ำหนักลดจาการมีมะเร็งตับพฤติกรรมแบบไหนที่สุ่มเสี่ยงหรือมีแนวโน้มเป็นโรคตับแข็งได้บ้าง ?
พฤติกรรมที่จะเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งก็ต้องดูตามสาเหตุ บางสาเหตุหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ เช่น
- กลุ่มไวรัสตับอักเสบบีและซี ก็ต้องระวังเรื่องการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ โดยไม่มีการป้องกันโรคที่เหมาะสม การใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นโดยใช้เข็มร่วมกัน การสักการเจาะโดยที่อุปกรณ์ไม่สะอาด หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบีก็ต้องไปตรวจเพราะสาเหตุหลักของไวรัสตับอักเสบบีคือการติดต่อจากแม่สู่ลูก
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
- การใช้ยา อาหารเสริม หรือเสริมอาหาร หรือยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานโดยไม่มีข้อบ่งชี้
- วิธีการรักษาโรคตับแข็ง รักษาอย่างไร ? มีโอกาสหายเป็นโรคได้หรือไม่ ?
สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง จากนั้นการดูแลผู้ป่วยตับแข็งที่ควรทำ ได้แก่
- การหาสาเหตุของตับแข็ง เพื่อให้การรักษาให้ตรงตามสาเหตุ เช่น การให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหรือซี การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การให้ยาขับธาตุเหล็กหรือทองแดง เป็นต้น
- ประเมินระยะของโรคตับแข็ง เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง เช่น อาจจะต้องส่องกล้องเพื่อดูหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร การทำอัลตราซาวด์เพื่อดูน้ำในช่องท้อง เป็นต้น
- พิจารณาให้วัคซีนที่จำเป็น โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสตับเสบเอ และบีหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- การคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดและการทำอัลตราซาวด์ทุก 6-12 เดือน
- การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับระยะของโรคตับแข็ง โดยทั่วไปหากยังเป็นไม่มากสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่หากเป็นมากแล้วควรงดการออกกำลังกายประเภทที่ต้องเบ่งแรงๆ หรือเร็วๆ เพราะอาจเพิ่มความดันในช่องท้องจนทำให้เส้นเลือดขอดแตกได้
- การดูแลภาวะโภชนาการให้เหมาะสม ที่แนะนำคือ ให้แบ่งมื้อรับประทานเป็นหลายๆ มื้อหากกินได้ครั้งละไม่มากจากการมีท้องมาน ลดปริมาณเกลือต่อวัน เพิ่มโปรตีนโดยใช้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ยกเว้นมีภาวะซึมจาก ammonia คั่งอาจพิจารณาให้เป็นโปรตีนจากพืชหรือโปรตีนเสริมสำเร็จรูปสำหรับคนไข้โรคตับแข็งได้
- ระวังการใช้ยาที่ผ่านการทำลายยาที่ตับ เช่น พาราเซตามอล
ในอดีตโรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยกเว้นการปลูกถ่ายตับกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าการเอาสาเหตุที่กระตุ้นให้ตับเสียหายออกไปได้ก็สามารถทำให้การทำงานของตับดีขึ้นได้ เช่น การใช้ยาต้านไวรัสบีหรือซี การหยุดดื่มแอกอฮอล์ การให้ยาขับเหล็กหรือทองแดง เป็นต้น
ข้อมูลโดย
อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล