โรคตับคั่งไขมัน เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะตับที่จัดว่ามีความสำคัญกับร่างกายไม่น้อย และควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีเพื่อให้ตับมีสุขภาพที่ดี ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ อย่างโรคตับคั่งไขมันที่อาจนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
โรคตับคั่งไขมันคือ
โรคที่มีภาวะไขมันสะสมที่ตับ โดยโรคดังกล่าวจะไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยจำนวนมากมักรู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้จากการตรวจร่างกายและพบว่ามีผลเลือดที่ผิดปกติ มีค่าเอนไซม์ตับที่สูง เมื่อผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ แพทย์จะทำการหาสาเหตุโดยเริ่มจากแยกโรคอื่นออกก่อน เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น เมื่อแยกโรคอื่นออกแล้ว แพทย์จะหาสาเหตุในเรื่องของแอลกอฮอล์หรือพันธุกรรมทางตับบางอย่าง
ส่วนมากผู้ป่วยโรคตับคั่งไขมันมักมีรูปร่างอ้วนและมีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน ทำให้เกิดการสะสมไขมันที่ตับ หรือในผู้ป่วยที่ไม่อ้วนแต่มีภาวะนี้มักเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพราะร่างกายของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการอักเสบของตับสูง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของตับ นำไปสู่โรคตับคั่งไขมันได้
กรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ แอลกอฮอล์และยาบางชนิด ซึ่งเป็นยาที่ทำให้ค่าเอนไซม์ตับสูง ได้แก่ กลุ่มยาสเตียรอยด์ ยายับยั้งการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ฮอร์โมนรักษามะเร็งเต้านม ยารักษาโรคข้ออักเสบบางชนิด
ถึงแม้ว่าคนที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินมักมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคตับคั่งไขมัน แต่ถ้าหากพูดถึงอาหารในแง่ของการเป็นปัจจัยสำคัญโดยตรงที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนั้น พบว่าไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนนัก เพราะคนอ้วนจำนวนมากมักอ้วนจากการสะสมของคาร์โบไฮเดรต แต่ในคนที่มีปัญหาเรื่องโรคตับคั่งไขมัน มักมีไขมันสะสมในเลือดสูงด้วย
ขณะที่คนอ้วนบางรายก็ไม่ได้มีระดับไขมันในเลือดสูงเลย แต่ภายหลังพบว่ามีบางกรณีเช่นกันที่มีระดับไขมันในเลือดที่ไม่สูง แต่เกิดการบาดเจ็บที่ตับเพียงอย่างเดียว และพบว่ามีค่าเอนไซม์ตับสูง โดยอาหารจำพวกแป้งอย่างคาร์โบไฮเดรตก็มีส่วนเพิ่มอาการบาดเจ็บของตับได้
กลไกการเกิดภาวะตับคั่งไขมัน
เมื่อตับเกิดอาการบาดเจ็บ ลักษณะของเซลล์ตับจะเปลี่ยนไป กลายเป็นตับที่มีไขมันมากขึ้น เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บไปนานๆ กลายเป็นพังผืด นำไปสู่ภาวะตับแข็งและส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งตับได้ด้วย และเมื่อเกิดอาการเหล่านี้จึงจะมีอาการของโรคตับคั่งไขมัน
ระยะการเกิดโรคตับคั่งไขมัน
- ระยะแรก ไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับไม่ก่อให้เกิดผลใด
- ระยะที่สอง ตับเริ่มอักเสบ หากปล่อยนานกว่า 6 เดือน กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
- ระยะที่สาม ตับอักเสบรุนแรงเกิดพังผืดในตับ และเซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง
- ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายมาก ตับทำงานไม่ได้ตามปกติ ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับ
หากพบในระยะแรกควรดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ โดยหลักการรักษา แพทย์จะแยกโรคอื่นออกก่อน เนื่องจากโรคตับคั่งไขมันสามารถพบร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี หากพบโรคเหล่านี้ก็จะทำการรักษาที่ตัวโรคนั้นๆ แต่ถ้าหากพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี ก็ต้องพยายามควบคุมให้ดี
ถ้าหากสาเหตุมาจากการทานยา ก็ต้องหยุดยาชนิดนั้นๆ หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถหยุดยาชนิดนั้นได้ ก็ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ
ในบางรายพบว่าการลดน้ำหนักแบบกระทันหัน เช่น ถ้าหากหนัก 100 กิโลกรัมแล้วลดน้ำหนักลงภายใน 1 เดือนเหลือ 70 กิโลกรัม การลดน้ำหนักแบบนี้จะทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บที่ตับสูงมาก ทางที่ดีคือควรลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไปและควบคุมน้ำหนักอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย
วิธีการรักษา
นอกเหนือจากการจัดการที่สาเหตุของโรคแล้ว การใช้ยาบางอย่างก็สามารถรักษาโรคได้ แต่เท่าที่ผ่านมาพบว่าสามารถรักษาได้ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะยาเหล่านั้นช่วยลดค่าเอนไซม์ตับได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดพังผืดที่ทำให้ตับแข็งได้ ทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมน้ำหนักจะได้ผลดีกว่า
โรคตับคั่งไขมันเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ
การใส่ใจในเรื่องของน้ำหนักให้มากๆ ระมัดระวังในเรื่องของไขมันสะสมในร่างกาย ในคนที่มีพังผืดเกิดขึ้นที่ตับแล้วหากเกิดในระยะเริ่มต้น ยังสามารถซ่อมแซมตับให้กลับเป็นปกติได้ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจรักษาได้ยากขึ้นตามอาการ การป้องกันโรคดังกล่าวคือพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมเบาหวานให้ดีในผู้ป่วยเบาหวาน หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และงดการทานยาที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
ข้อมูลจาก
อ. พญ. ศุภมาส เชิญอักษร
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล