โรคซึมเศร้าหากมองเผินๆ แล้ว ไม่น่าจะมีอันตรายใดๆ แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นมักจะหาวิธีแก้ไขอาการด้วยตัวเองไม่ได้
โรคซึมเศร้าพบได้มากในปัจจุบัน เห็นได้จากข่าวการฆ่าตัวตายตามสื่อต่างๆ โดยมากเรามักเข้าใจกันว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความกดดัน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ความกดดันจากครอบครัว การทำงาน การเรียน สามารถทำให้เสียใจ เศร้าใจ จนมีความรู้สึกหมองหม่นได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเพราะสาเหตุนี้
คนที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นคนที่มีความเสี่ยงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและเมื่อเจอความกดดันต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าคือ
พันธุกรรม ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของยีน อีกทั้งยังเกิดจากฮอร์โมน ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น หากมีการพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงสูง
นอกจากนี้ในร่างกายเรามีสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ซีโรโทนิน ซึ่งหากมีค่าต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้การสื่อสารของเซลล์ประสาทนั้นทำงานได้ไม่ดี และยังมีสารอีกหลายตัวที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง แต่ซีโรโทนินจะเป็นสารตัวหลักที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
คนในครอบครัวควรจะเอาใจใส่สมาชิกภายในครอบครัวให้มากๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หากไม่แน่ใจหรือเป็นกังวล ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อลดปัญหาหรือหาทางแก้ไขสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับสมาชิกภายในครอบครัวของท่านต่อไป
ข้อมูลจาก
ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล