ในประเทศไทยพบผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5 แสนคน เป็นสัญญาณที่แสดงออกถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความน่าเป็นห่วงของเรื่องนี้คือคนในวัยนี้มักมีความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งยากต่อการใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนที่ร่างกายแข็งแรง โดยหนึ่งในโรคที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงอายุก็คือ “โรคกระดูกพรุน” อันอาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้ ทั้งยังเป็นภัยเงียบที่ต้องให้ความสำคัญ
ลักษณะของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนคือโรคชนิดหนึ่งซึ่งมวลกระดูกลดน้อยลง มักเกิดกับสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เกิดจากอัตราการสร้างและการทำลายกระดูกที่ไม่สมดุลกัน โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์จะมีการสร้างและทำลายกระดูกอยู่ตลอดเวลาและอยู่ในสมดุล แต่มีบางภาวะที่อาจส่งผลให้การสร้างและทำลายมวลกระดูกผิดปกติ เช่น ในคนที่หมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศหญิงลดน้อยลง ส่งผลให้มีการทำลายกระดูกมากขึ้นและสร้างได้น้อยลง มวลกระดูกโดยรวมจึงลดน้อยลงกลายเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด
อาการแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุน
- กระดูกเสียความแข็งแรง กระดูกหักง่าย
- เคลื่อนไหวได้ลดลง ช่วยเหลือตัวเองลำบาก
- หลังโกง หลังค่อม
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- ปอดบวม
- ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
- โลหิตเป็นพิษ
- เดินไม่ได้/พิการ
- แผลกดทับ (กรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง)
กระดูกข้อสะโพกหักจากกระดูกพรุน เป็นภาวะที่มีอันตรายสูง และถึงกับเสียชีวิตได้ ภาวะกระดูกหักหากเกิดในผู้สูงอายุจะรักษาได้ยาก เพราะกระดูกหักในผู้สูงอายุจะติดช้า มีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก บางรายอาจถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนกระดูกสะโพกหัก อาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพตามมา หรือเสียชีวิตได้สูง ภายใน 1-2 ปี
การรักษาโรคกระดูกพรุน
- รักษาด้วยยา
- ผ่าตัด
- กายภาพบำบัด
การรักษาภาวะกระดูกสะโพกหักจากกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกสะโพกหักเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุนที่อันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การผ่าตัดโดยเร็ว ภายใน 48-72 ชั่วโมง เพื่อยึดตรึงกระดูกหักให้แข็งแรง และการผ่าตัดแบบแผลเล็กบาดเจ็บน้อย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม วิธีเหล่านี้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก และสามารถฟื้นฟูร่างกายกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
การสังเกตตัวเองถึงแนวโน้มของการเป็นโรคกระดูกพรุน
- วัดส่วนสูง หากพบว่าเตี้ยลงกว่าตอนวัยหนุ่มหรือวัยสาวมากกว่า 4 เซนติเมตร ควรพบแพทย์
- ทบทวนตัวเองว่าเคยกระดูกหักง่ายมาก่อนหรือไม่ มีกระดูกหักง่ายในครอบครัวหรือไม่ หากใช่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจละเอียด
ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
- สุรา/บุหรี่
- การใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน มากกว่า 3 เดือน
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเซียม เมื่ออายุมากขึ้น หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- ออกกำลังกายในท่าลงน้ำหนักที่เท้า เช่น กระโดดเชือก วิ่ง เดิน
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ข้อมูลโดย
ศ. นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ์
สาขาวิชากระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล