กิจวัตรประจำวันของเราในแต่ละวันเป็นอย่างไร ตั้งแต่ตื่นนอนมาใครที่รีบคว้าโทรศัพท์มือถือมาใช้งานทันที หรือนอนหลับไปทั้ง ๆ ที่โทรศัพท์ยังคาอยู่ในมือ และตลอดทั้งวันก็จดจ่ออยู่กับการรับส่งข้อความต่าง ๆ โดยเฉพาะใครที่ชอบแชะ แชร์ อัพ ในโซเชียล แน่นอนว่าถือเป็นอาการเสพติดสมาร์ทโฟนอย่างไม่ต้องเดาเลย ยิ่งหากวันไหนมีเหตุให้ต้องงดเล่นโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วมีอาการกังวลใจเกินกว่าเหตุ หรือที่เราเรียกว่า “โนโมโฟเบีย” คงไม่ดีแน่
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายคำว่า “โนโมโฟเบีย” ในนิยามทางการแพทย์นั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการ เพราะมีการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนหรือสังคม เวลามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นมักจะมีคำเรียกเฉพาะ อย่างเช่น อาการติดสมาร์ทโฟน เป็นไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ ซึ่งคำว่า “โนโม” เป็นคำที่ใช้เรียกแทนโมบายโฟน ส่วนคำว่า “โฟเบีย” แปลว่ากังวลอย่างมากต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกังวลมากเกินกว่าเหตุ จึงเรียกรวมกันเป็น “โนโมบายโฟนโฟเบีย” แต่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โนโมโฟเบีย” มาจากการที่โทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตประจำวัน และเราเกิดความกังวลใจว่าถ้าไม่มีโทรศัพท์แล้วจะทำอย่างไร ควรรีบเช็กตัวเองก่อนเกิดผลกระทบ
เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต นั้นสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้คนเริ่มเข้าไปใช้งานจนเปลี่ยนไปเป็นลักษณะที่ว่าติดการใช้งาน เพราะสิ่งที่ได้รับพื้นฐาน คือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสาร มีการตอบสนองได้รวดเร็ว เหมาะแก่การใช้ในการส่งความรู้สึก ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ทำหน้าที่ได้หลายฟังก์ชั่น จึงมีการใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสามารถของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป การเล่นโซเชียล จนเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนรู้สึกว่าขาดไม่ได้
พฤติกรรมที่เข้าข่ายกลุ่มอาการ โนโมโฟเบีย คือ
พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องคอยคลำกระเป๋ากางเกงหรือกระโปรงตลอดว่าโทรศัพท์อยู่ข้าง ๆ ตัวหรือไม่ หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา แม้กระทั่งได้ยินเสียงคล้าย ๆ เสียงข้อความเข้า ถ้าไม่ได้ตรวจดูโทรศัพท์จะมีอาการกระวนกระวายใจ ไม่สามารถทำงานหรือปฏิบัติภารกิจตรงหน้าได้สำเร็จ ต้องดูหน้าจอโทรศัพท์เพื่อเช็กข้อความก่อน เมื่อตื่นนอนรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กข้อความ หรือก่อนนอนเล่นโทรศัพท์จนกระทั่งหลับ ใช้โทรศัพท์ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้า
หากใครลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน
ชั่วโมงแรกที่รู้ตัวว่าลืมโทรศัพท์จะรู้สึกมีความกังวลใจมาก หรือหาโทรศัพท์ไม่เจอจะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมาก ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงหน้า ห้ามใจไม่ให้เล่นโทรศัพท์ภายใน 1 ชั่วโมงไม่ได้ ลองเช็กตัวเองดูถ้าใครมีอาการเหล่านี้แสดงว่ามีความวิตกกังวลใจเกินกว่าเหตุ เพราะความเป็นจริงการไม่มีโทรศัพท์มือถือแค่ 1 วัน มันไม่ได้สร้างปัญหาอะไรมากมายขนาดนั้น เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม การที่ขาดโทรศัพท์มือถือบางคนอาจมีบางอย่างยากขึ้น เช่น
เวลาจะสื่อสารกับใครก็ไม่สามารถสื่อสารได้แบบทันที ต้องไปใช้อุปกรณ์อย่างอื่น เช่น คอมพิวเตอร์ ซึ่งมันพกพาไม่ได้เหมือนมือถือ แต่ยังสามารถเล่นเฟซบุ๊กกับเพื่อนได้ ซึ่งจริง ๆ เชื่อว่าทุกคนใช้ชีวิตได้ทั้งวันโดยที่ไม่มีมือถือได้ อีกเรื่องหนึ่งคือความยุ่งยากในการโทรหาคนอื่น เช่น บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ หรือบันทึกทุกอย่างไว้ในเมมโมรี่ของโทรศัพท์มือถือทั้งหมด แต่ถามว่าถึงขนาดต้องกังวลใจจนจะตายไหม แน่นอนว่าไม่ เพราะมันจะเป็นอยู่แค่ระยะสั้น ๆ
อาการกังวลใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น
บางคนลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านกลับรู้สึกเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทั้งวัน อาจจะเป็นเพราะใช้งานน้อยอยู่แล้วหรือใช้เท่าที่จำเป็นจึงไม่ได้กระทบมาก บางคนรู้สึกกังวลใจแค่ในชั่วโมงแรก แต่ช่วงหลังเมื่อหาวิธีสื่อสารด้วยทางอื่นได้ก็หมดกังวล แต่บางคนรู้สึกว่าอดทนได้น้อย รู้สึกกระวนกระวาย วุ่นวายใจ หรือเวลาไปอยู่ในที่อับสัญญาณ ไม่สามารถอัพโหลดภาพได้ บางคนรุนแรงถึงขั้นหงุดหงิด ฉุนเฉียว โวยวายเรื่องไม่มีโทรศัพท์หรือใช้โทรศัพท์ไม่ได้ถือว่าเยอะไปแล้ว เพราะทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ ไปด้วย
สำหรับใครที่เช็กตัวเองแล้วพบว่าเข้าข่ายอาการโนโมโฟเบียคงไม่ดีแน่ เพราะเสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสมอง
เนื่องจากการใช้งานเทคโนโลยีเป็นการรับข้อมูลของสมองที่ต้องใช้ความเข้มข้นสูงในการจ้องรับข่าวสารหรือใช้งานตลอดเวลา ทำให้ชีวิตในแต่ละวันต้องมีช่วงเวลาที่ต้องปลอดมือถือพักสมองบ้าง เช่น จัดช่วงเวลาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ได้แก่ เวลารับประทานอาหาร เวลาทำงาน ถ้าเราสามารถปรับตัวได้จะพบว่ามันไม่ได้ต้องใช้ตลอดเวลา อาจจะเริ่มจากกำหนดเวลา 30 นาที และเพิ่มเป็น 1 ชั่วโมง จากนั้นเพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในห้องนอนถ้ากำหนดเป็นเขตปลอดมือถือเลยได้ยิ่งดี
นอกจากนี้ ยังมีผลเสียหรือผลกระทบต่อสุขภาพกายที่ทราบกันมาตลอด คือ เรื่องสายตา
ที่ใช้งานหนัก ยิ่งถ้าบางคนอยู่ในที่แสงไม่พอและใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้แสงจ้าด้วยยิ่งมีปัญหามากขึ้นกับสายตา อาการปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ เพราะเวลาใช้งานโทรศัพท์จะเกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว ถ้าเล่นนาน ๆ จะปวดศีรษะตามมา และปัญหาเรื่องสมาธิเพราะตัวภาพและจอจะรบกวนทำให้ระบบสมาธิลดลง
ฉะนั้นในเด็กจึงแนะนำว่าไม่ควรเล่นมากเกินไป เนื่องจากอยู่ในวัยที่กำลังพัฒนาสมาธิ ส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น ส่งผลให้เด็กหลายคนอารมณ์ร้อนและขี้หงุดหงิดมากขึ้น
ดังนั้น อาการโนโมโฟเบียไม่ได้เป็นโรครุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตัวเองหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ
นอกเหนือจากการพักผ่อนด้วยการเล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังในโทรศัพท์มือถือ เช่น ออกไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ นั่งพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้ากัน แต่ทั้งนี้อยู่ที่ว่าถ้าเราเริ่มรู้สึกว่ามีผลกระทบ เช่น รู้สึกกังวลใจมาก ไม่สบายใจบ่อย ๆ หงุดหงิดง่าย ควรเริ่มปรับเปลี่ยนซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
เมื่อการใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปเสียแล้ว และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทั้งศักยภาพของการส่งสัญญาณทั้งภาครับ ภาคส่ง และอุปกรณ์มือถือมีการพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งผู้พัฒนาคิดมาจากการใช้งานของมนุษย์ แต่ตัวเราเองที่เป็นคนใช้งานย่อมต้องรู้ว่าทำมาเพื่อให้ใช้ประโยชน์บางส่วน ไม่ใช่ใช้ตลอดเวลา ที่สำคัญหากรักษากฎเกณฑ์ได้ดีมีช่วงเวลาปลอดจากโทรศัพท์มือถือบ้าง จึงจะเรียกว่าใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่านั่นเอง
ข้อมูลจาก
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต