ควันบุหรี่ เป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์และโลกใบนี้ เพราะเมื่อสูบบุหรี่ไม่เพียงแค่ตนเองที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังส่งผลไปถึงบุคคลรอบข้างและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาควันที่เกิดจากการสูบ บุหรี่ ของคนในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงผลกระทบของ สารพิษจากควันบุหรี่ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ รวมถึงวิธีการรับมือเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากควันพิษเหล่านี้
ควันบุหรี่มีสารอะไรบ้าง
ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษหลายชนิดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบได้ในควันบุหรี่
- นิโคติน (Nicotine) เป็นสารหลักที่พบได้ในควันบุหรี่ ส่งผลให้คนที่ได้รับสารนี้เข้าไปรู้สึกเสพติด นอกจากนี้นิโคตินในบุหรี่ยังมีผลกระทบต่อระบบประสาทและการทำงานของหัวใจรวมไปถึงหลอดเลือดอีกด้วย
- ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide) เป็นสารที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง ทั้งยังเป็นสารที่เข้าไปทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลม
- คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนในเลือด มีผลกระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารพิษที่ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนในร่างกาย โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบในยาเบื่อหนู
- ทาร์ (Tar) เป็นละอองน้ำมันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เมื่อสูบบุหรี่ ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด ซึ่งสารเหล่านี้ก่อให้เกิดมะเร็ง
- แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้มีอาการแสบตา แสบจมูก และไอ
- โพรพิลีน (Propylene) เป็นสารที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ อาจเป็นสาเหตุของอาการหอบ หืด และภูมิแพ้ในผู้ได้รับสาร
- ฟอร์มาลีน (Formaldehyde) เป็นสารที่เป็นพิษและเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งและโรคอื่น ๆ
สารพิษเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของผู้ที่ได้สูดควันจาก บุหรี่ เข้าไป เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด และโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศและทำลายชั้นบรรยากาศในบริเวณที่มีการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง
โทษร้ายของ สารพิษจากควันบุหรี่
หากยังคงมีคำถามว่าควันบุหรี่อันตรายไหม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารอันตรายที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของผู้ที่สูบเองและบุคคลรอบข้าง ซึ่งโทษต่าง ๆ ที่เกิดจากควันบุหรี่สามารถแบ่งออกเป็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- ควันบุหรี่มือหนึ่ง สำหรับโทษที่เกิดจากควันบุหรี่มือหนึ่งก็คือ อันตรายจากสารพิษในควันที่ผู้สูบได้รับผลกระทบโดยตรง สารพิษที่ได้รับจากควันมือหนึ่งมักเป็นสารที่เข้าสู่ร่างกายทางตรงก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา
- ควันบุหรี่มือสอง เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่าควันบุหรี่มือสองอยู่บ่อย ๆ ซึ่งควันนี้เกิดขึ้นจากการสูดดมควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย เกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
- ควันบุหรี่มือสาม บุหรี่มือสามหมายถึงสารนิโคติน และสารพิษอื่นเกาะติดตามพื้นผิวฝ้า เพดาน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ผ้าห่ม หมอน ฝุ่น อื่น ๆ ในบ้าน ที่อยู่อาศัย หรือภายในรถยนต์ และจะคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นอีกนาน สารเหล่านี้จะเป็นอันตรายเมื่อถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังจากการสัมผัส รวมทั้งจะปนเปื้อนกับอากาศในบ้าน หรือจะทำปฏิกิริยากับก๊าซต่าง ๆ ในอากาศภายในบ้านทำให้อากาศภายในที่อยู่อาศัยเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อผู้หายใจเมื่อสูดดมเข้าไปโดยเฉพาะเด็ก เพราะมีความไวต่อสารในจำนวนน้อย
ควันบุหรี่ที่อันตรายไม่แพ้กับควันมือหนี่งและมือสอง คือควันที่ตกค้างจากผู้ที่สูบบุหรี่ มักอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ทำการสูบ รวมไปถึงตกอยู่บนสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ที่อยู่บริเวณนั้น ๆ
ทั้งนี้ควันเหล่านี้สามารถยับยั้งได้โดยเริ่มต้นตั้งแต่ควันมือหนึ่งที่เกิดจากตัวของผู้ที่ทำการสูบเอง ‘เพียงเริ่มต้นไม่สูบ ควันก็ไม่เกิด’ เท่านี้ก็เป็นการช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นจากควันบุหรี่มือสองและสามตามมานั่นเอง
โรคร้ายที่มาพร้อมบุหรี่
แน่นอนว่าสิ่งที่มาควบคู่กับบุหรี่ก็คือ ‘โรคร้าย’ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้สูบและบุคคลใกล้ชิด และนี่คือโรคต่าง ๆ ที่มักพบในผู้ที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่
- โรคมะเร็ง : สารพิษในควันบุหรี่กระตุ้นการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่มักพบในผู้สูบโดยตรง นอกจากนี้ยังมีมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร
- โรคหัวใจ : สารในควันบุหรี่ก่อให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดหรือหลอดเลือดได้
- โรคถุงลมโป่งพอง : เมื่อสูดดมควันบุหรี่ทุกวันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้
- โรคปอดอักเสบ : การสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง ซึ่งสามารถทำให้เป็นโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อได้
- โรคสำหรับทารกและเด็ก : งานวิจัยพบว่าควันบุหรี่ทั้งมือสองและมือสามมีพิษต่อทารกและเด็ก โดยมีความเสี่ยงต่อการตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (sudden infant death syndrome) มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ภูมิแพ้ หอบ หืด ในระยะยาวมีผลต่อโรคปอดเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดในอนาคต และมีผลต่อการทำงานของสมองในด้านระดับสติปัญญา
วิธีป้องกันและกำจัด สารพิษจากควันบุหรี่
วิธีป้องกันควันบุหรี่ที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นจัดการที่สาเหตุของปัญหา นั่นก็คือการไม่สูบหรือหลีกเลี่ยงผู้ที่สูบให้ได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้หากจำเป็นที่จะต้องใกล้ชิดหรืออยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่อันเนื่องมาจากคนในบ้าน ให้ทำการกำจัดสารพิษตกค้างให้ได้มากที่สุด ดังนี้
- ทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการสูบเพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง
- หากเป็นผู้สูบให้เลือกสูบในสถานที่ที่มีการถ่ายเทของอากาศอยู่ตลอดเวลา
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ในบริเวณนั้น ๆ
- สนับสนุนและเลิกการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่นอกจากจะไม่มีคุณประโยชน์แล้วยังมีแต่โทษที่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและบุคคลรอบข้างรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ควันบุหรี่ไม่เพียงแต่ทำร้ายเรา แต่ยังทำร้ายบุคคลที่รักโดยไม่รู้ตัว หากคุณเป็น 1 ในบุคคลที่ยังไม่สามารถเลิกได้ ให้คำนึงถึงคนใกล้ชิดให้มากขึ้นก็อาจช่วยให้มีกำลังใจในการเลิกได้ และหากคุณมีคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวที่สูบ การสนับสนุนและให้กำลังใจในการเลิกก็เป็นการแสดงความรักที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ศึกษาครอบครัวที่มีเด็กเล็กแรกเกิดถึง 6 ปีที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว ได้ทำการตรวจหาสารพิษจากบุหรี่ที่เรียกว่าสารโคตินินในปัสสาวะของเด็กซึ่งบ่งบอกการได้รับควันพิษมา 48 ชั่วโมงก่อนมารับการตรวจพบว่า ร้อยละ 76 หรือ 57 รายตรวจพบสารพิษ ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของเด็ก ทั้งที่ได้รับมาในลักษณะเป็นบุหรี่มือสองและมือสาม โดยมีความเสี่ยงสูงในการอยู่อาศัยกับผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน ไม่ว่าผู้สูบนั้นจะสูบในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม เด็กในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ และแฟลตที่มีคนสูบบุหรี่มีสารโคตินินสูงกว่าเด็กในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ที่มีคนสูบบุหรี่ถึงสองเท่าตัว โดยความเป็นธรรมทางสุขภาพแล้ว ทารกและเด็กไม่ควรมีสารพิษจากบุหรี่ในร่างกาย และส่งผลต่อสติปัญญาและสุขภาพของพวกเขาหากผู้ใหญ่รอบตัวเขาไม่สูบบุหรี่ใกล้ตัวเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ในพื้นที่แคบเช่นในรถ ในบ้านที่อยู่อาศัย แม้สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ส่วนบุคคล
การสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้เป็นพิษต่อเด็กเป็นความไม่เป็นธรรมต่อสุขภาพเด็กที่สังคมควรให้ความสนใจ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะให้การคุ้มครองเด็กจากพิษควันบุหรี่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งพื้นที่ในรถ บ้านที่อยู่รวมกันหลายยูนิต เช่น อพาร์ทเมนต์ แฟลต คอนโดมิเนียม ซึ่งต้องใช้อากาศร่วมกันระหว่างผู้อยู่อาศัยแต่ละครัวเรือน
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel