ปวดหัวไมเกรน เป็นความเจ็บป่วยทางร่างกายที่พบบ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน สืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนในสังคมต้องเผชิญกับความเครียดอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นความเครียดสะสมที่บั่นทอนร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เกิดอาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คืออาการปวดหัวไมเกรนที่หลายคนเผชิญอยู่
ปวดหัวไมเกรน อาการอย่างไร
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการที่แสดงคือ “ปวดหัวข้างเดียว” แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถปวดหัวทั้งสองข้างได้เช่นกัน
การปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง เป็นลักษณะเฉพาะของไมเกรน เนื่องจากมีจุดหรือแหล่งกำเนิดที่ทำให้ปวดหัว ส่วนมากอยู่บริเวณก้านสมอง มีการส่งสัญญาณทางระบบประสาท เพื่อไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบหลอดเลือดของสมอง รวมทั้งการส่งผ่านสัญญาณของเส้นประสาทมาทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่รับความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและศีรษะ อาจทำให้บางครั้งเริ่มต้นปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเป็นมากอาการปวดก็สามารถกระจายไปยังศีรษะทั้งสองข้างได้ หรืออาจปวดหัวย้ายไปมาสลับกันระหว่างซ้ายและขวา
ปวดหัวไมเกรน มีสาเหตุมาจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องทางพันธุศาสตร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เชื่อว่าอาการปวดหัวไมเกรนถูกกำหนดโดยโครงสร้างของสมองในบุคคลนั้น ทำให้มีความไวต่อสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการ สิ่งเร้านั้น ได้แก่ การอดนอน การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อากาศร้อน แสงจ้า ความเครียด ในเพศหญิงยังมีเรื่องของฮอร์โมนเพศเข้ามาเกี่ยว เช่น ก่อนหรือหลังมีประจำเดือนจะมีอาการไมเกรนกำเริบขึ้นมา เป็นต้น
ปวดหัวไมเกรน มีกี่ประเภท
หากแบ่งประเภทของการปวดหัวไมเกรนในทางการแพทย์นั้นมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก แต่ถ้าหากแบ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่มีอาการออร่า คือมีการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น ตามองไม่เห็นชั่วคราว หรือเห็นแสงระยิบระยับ ภาพบิดเบี้ยว ภาพเบลอ ก่อนปวดหัว ทั้งหมดนี้เรียกว่า คลาสสิคไมเกรน
- กลุ่มที่ไม่มีอาการออร่า คือไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน มีเฉพาะอาการปวดหัวเท่านั้น เรียกว่า Common migraine
ปวดหัวไมเกรน รุนแรงแค่ไหน
ระดับความรุนแรงของการปวดหัวไมเกรนขึ้นอยู่กับความทนทานของร่างกายในแต่ละบุคคล บางรายอาจปวดมาก แต่สามารถทนได้และไม่รู้สึกว่าตัวเองปวดมาก รวมถึงไม่ต้องกินยาก็สามารถทนไหว แต่บางรายมีความทนต่ออาการได้ต่ำ อาจรีบพบแพทย์และรายงานกับแพทย์ว่าปวดมาก ทั้งที่อาการอาจไม่ได้หนักเท่าไร จึงกล่าวได้ว่าความรุนแรงของการปวดหัวไมเกรนขึ้นอยู่กับความทนทานของร่างกาย
นอกจากอาการปวดหัว ถ้าหากมีการดำเนินโรคไปถึงจุดที่มีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดหัวมากจนต้องใช้ยาแก้ปวดหลายชนิด อาการแบบนี้ถือเป็นระดับรุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อฉีดยาแก้ปวดชั่วคราว และรับยาป้องกันอาการจากแพทย์
ปวดหัวไมเกรน แตกต่างจากปวดหัวทั่วไปอย่างไร
อาการปวดหัวไมเกรน ผู้ป่วยมักมีประวัติจำเพาะและตรวจร่างกายพบว่ามีความปกติดีของระบบประสาท แต่ถ้าหากปวดหัวจากสาเหตุอื่น อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทหรือมีผลข้างเคียงมาจากโรคอื่นทำให้เกิดอาการปวดหัวขึ้น ในการตรวจวินิจฉัยเพื่อแยกแยะอาการปวดหัวทั้งสองออกจากกัน แพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้และตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่าระบบประสาทมีความผิดปกติหรือไม่
ปวดหัวไมเกรน เกิดกับใครได้บ้าง
สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยในผู้สูงอายุบางรายอาจเริ่มเป็นไมเกรนตั้งแต่อายุน้อย หรือบางรายอาจเริ่มเป็นไมเกรนตอนอายุมาก
ทำไมคนเป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยทำงาน
คนวัยทำงานมักมีสิ่งเร้ามากมายที่ทำให้ผู้ป่วยไมเกรนถูกกระตุ้น ได้แก่ แสงจากคอมพิวเตอร์ ความเครียด การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
การกินยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
ยาที่สามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรน ได้แก่
- พาราเซตามอล
- กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS)
- ยาต้านไมเกรน
โดยในการกินยาเพื่อให้ได้ผลนั้นควรกินเมื่อเริ่มมีอาการ เพื่อระงับไม่ให้อาการรุนแรง แต่ถ้าหากปล่อยให้มีการดำเนินโรคไปถึงระดับหนึ่งแล้ว การกินยามักได้ผลน้อย ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาแก้ปวดบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้มีอาการปวดหัวเรื้อรังจากการใช้ยา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย สาเหตุหลักมักมาจากการใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 1 สัปดาห์
ปวดหัวไมเกรนและการรักษา
- การรักษาในระยะที่มีอาการปวดเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาแก้ปวดซึ่งมีหลายชนิด ตั้งแต่ขนาดเบาไปจนถึงขนาดที่ระงับอาการไมเกรนได้ รวมถึงการใช้ยาฉีด โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตามอาการ
- การรักษาในรายที่มีแนวโน้มปวดหัวเรื้อรังจากไมเกรนหรือจากการใช้ยามากเกินไป จำเป็นต้องใช้ยาป้องกันการกำเริบของไมเกรน เช่น ยากันชัก กลุ่มยาต้านเศร้า เป็นต้น
ปวดหัวไมเกรน ป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้งานคอมพิวเตอร์มากเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
ข้อมูลจาก
ดร. นพ.จรุงไทย เดชเทวพร
สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล