สาเหตุและวิธีรักษา
1. การใช้เสียงเยอะ ๆ
ร้องเพลงคาราโอเกะ หรือการร้องเพลงเชียร์ในโรงเรียน โดยปกติพัก 1-2 วัน เสียงจะกลับมาตามปกติ แต่ในบางรายที่เสียงแหบไม่หายเป็นสัปดาห์จะเกิดจากการที่ไม่หยุดพักการใช้เสียง จึงทำให้การใช้เสียงแย่ลง จนเส้นเสียงผิดปกติ การรักษาจึงทำให้ต้องใช้ยาเพื่อให้เสียงกลับมาเป็นปกติได้
2. การติดเชื้อหรือเป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก
จนทำให้เยื่อบุเนื้อบวมขึ้นมาเป็นเยื่อบุแบบเดียวกันกับทางเดินหายใจ เส้นเสียงก็อาจจะเกิดอาการบวมและอักเสบได้ แต่ข้อดีคือ ถ้าเราพักผ่อนเพียงพอและรักษาตามอาการ ก็สามารถหายเองได้ ธรรมชาติจะรักษาตัวเอง
หากจำเป็นต้องใช้ยาในกรณีเสียงแหบมาก จนถึงขนาดไม่มีเสียงเลย หรือไอรุนแรง หมอก็จะสั่งยาเพื่อให้เส้นเสียงยุบจนกลับมาเป็นสภาพปกติ
หากรักษาแล้วไม่หาย อาจจะต้องดูว่าอาการหวัดมีอะไรผิดปกติที่ไปทำให้เส้นเสียงบวม เช่น เส้นเลือดเล็ก ๆ แตกในเยื่อบุของเส้นเสียง ก็จะกลายเป็นก้อนขึ้นมาหรือกลายเป็นถุงน้ำจากการไอ ทำให้มีการกระแทกของเส้นเสียงเยอะ ๆ แบบนี้จะใช้เวลานานขึ้นกว่าจะหาย บางรายอาจเป็นเดือน
บางอาชีพ เช่น ครู อาจารย์ นักร้อง ที่ต้องใช้เสียงเยอะ ๆ และต้องการหายเร็ว ๆ เบื้องต้นผู้ป่วยต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่สามารถฝืนธรรมชาติได้ ถึงแม้ว่าจะให้ยาลดบวมไม่ว่าจะเป็นแบบฉีดหรือกินก็ตาม หากยังฝืนใช้เสียง อาจจะส่งผลให้เส้นเสียงมีอาการหนักขึ้นและหายช้า
3. เสียงแหบที่เกิดจากโรคภูมิแพ้โดยตรงพบค่อนข้างน้อยแต่มักจะเป็นนาน
เช่น อาการเสียงแหบเรื้อรัง ถ้าได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จะคิดว่าเป็นโรคอย่างอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคภูมิแพ้ธรรมดา ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมาจากอาการไอรุนแรง ภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากทางกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่งและอีกส่วนเกิดจากการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ถ้าเราหลบเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ ก็จะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ทางกล่องเสียง คือ กรดไหลย้อน อาจจะทำให้เส้นเสียงมีอาการผิดปกติได้ การรักษาเป็นการให้ยาซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับยารักษาภูมิแพ้
4. ยาบางชนิดอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียงแหบ
เช่น ผู้ป่วยที่กินยาขับปัสสาวะ หรือกินวิตามินขนาดสูง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแห้งของเส้นเสียง หรือบางรายใช้ยาพ่นทางจมูกหรือปากเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ทางปอดหรือจมูก ยาพวกนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงแหบ เสียงแห้งได้เช่นเดียวกัน
โดยสรุปแนวทางการรักษา
- การดูแลตัวเองที่ง่ายที่สุดคือ “ดื่มน้ำ พักผ่อน พักเสียง”
- ไม่ควรดื่มน้ำมะนาวหรือน้ำส้มคั้นแทนน้ำ เป็นความเชื่อที่ผิดว่ารักษาเสียงแหบได้ เมื่อมีเสียงแหบควรดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง ไม่ร้อนจัดและไม่เย็นจัด เป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการช่วยดูแลรักษาเส้นเสียง
- หากเป็นหวัด ให้พักรักษาตัว อย่าฝืนใช้เสียง จะทำให้ร่างกายแย่ลง ยาเป็นแค่ตัวรักษาตามอาการเท่านั้น
- หากมีอาการไอรุนแรง ต้องลดกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงลง
- หากผ่านไป 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย ควรไปพบแพทย์
ข้อมูลโดย
อ. นพ.ภูริช ประณีตวตกุล
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล