ตะคริว คือ อะไร เป็นบ่อยอาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างจริงหรือ ? กิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันอาจทำให้เป็นตะคริวได้โดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นแต่ละครั้งจะเจ็บปวดอย่างมาก ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็น เพราะหากเกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ทำไมคนเราถึงเป็นตะคริว และจริงไหมที่ตะคริวอาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้
ตะคริว คือ อะไร
ตะคริว คือ อาการหดเกร็งอย่างเฉียบพลันของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็งเป็นก้อน ก่อให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่เกิดตะคริว
ตะคริวเกิดขึ้นที่ไหนได้บ้าง
เกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย ส่วนมากมักเกิดที่กล้ามเนื้อน่องหรือขา เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้งานบ่อย บางรายอาจเป็นที่แขนหรือมือจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ ตะคริวในคนทั่วไปมักจะหายได้เองเมื่อพัก และสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ แต่หากเป็นตะคริวบ่อยและเริ่มรบกวนการนอน ร่วมกับมีอาการอื่น เช่น ชา แสบร้อน พักแล้วไม่หาย ขาซีด ถือว่าเป็นตะคริวที่ไม่ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
สาเหตุของตะคริว
- กล้ามเนื้อเกร็ง เกิดอาการเมื่อยล้า อาจเกิดจากการเดินเยอะ
- การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น นั่งนาน ยืนบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน
- โรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต กรณีนี้แพทย์จะให้ยาป้องกันการเกิดตะคริว
3 ความเชื่อเกี่ยวกับตะคริว
ตะคริวเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนจึงมีความเชื่อที่มักจะถูกแชร์ต่อ ๆ กันมา ความเชื่อเหล่านี้ เรื่องไหนจริงหรือหลอก
ความเชื่อที่ 1 เป็นตะคริวบ่อยมีความเสี่ยงหลอดเลือดแดงแข็ง
ความเชื่อนี้จริงบางส่วน เพราะตะคริวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความเมื่อยล้า หรือบ่งบอกว่ามีโรคซ่อนอยู่ก็ได้ เช่น หลอดเลือดแดงแข็งตัว ไทรอยด์ หลอดเลือดสมอง ปอด เอ็นประสาทอักเสบ อย่างไรก็ตาม อาการปวดจากตะคริวมีความแตกต่างจากอาการปวดจากโรคที่ซ่อนอยู่ หากเป็นตะคริว กล้ามเนื้อจะเกร็ง เมื่อพักแล้วจะดีขึ้น แต่หากปวดจากโรคอื่น เช่น หลอดเลือดแดงแข็งตัว คนไข้จะรู้สึกเย็นและชาร่วมด้วย เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ จะปวดมากขึ้น แต่เมื่อพักแล้วอาการจะหายไป
ความเชื่อที่ 2 เป็นตะคริวตอนนอน เพราะดื่มน้ำไม่พอ
ความเชื่อนี้จริงบางส่วน การสูญเสียน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเป็นตะคริว สังเกตได้ว่านักกีฬาส่วนมากมักเป็นตะคริวจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเมื่อร่างกายเสียน้ำมาก และไม่ได้มีการยืดเหยียดร่วมด้วย ในคนทั่วไปที่ออกกำลังกายหรือเดินมาก และดื่มน้ำไม่เพียงพอก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ ฉะนั้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอในวันที่ออกกำลังกายหรือเดินเยอะ อาจยืนบนแท่นยืดเหยียดเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อด้วยก็ได้
ความเชื่อที่ 3 เป็นตะคริวให้กินของเค็ม เพราะร่างกายขาดเกลือแร่
ความเชื่อนี้ไม่จริง หลายคนเชื่อว่ากินเค็มแล้วจะไม่เป็นตะคริว เพราะสับสนว่าเกลือแร่กับของเค็มเป็นเรื่องเดียวกัน หากร่างกายขาดเกลือแร่จนเกิดตะคริว แนะนำให้ทานแมกนีเซียมเสริม หรือทานอาหารที่มีแคลเซียมเพื่อป้องกันการเกิดตะคริว ซึ่งอาหารที่มีเกลือแร่หรือแมกนีเซียมพบได้ในเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ และกล้วย
แก้การ เป็นตะคริว ด้วยวิธีง่าย ๆ
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หากเป็นที่น่องให้กระดกขาขึ้นค้างเอาไว้สักพัก กล้ามเนื้อที่เกร็งจะค่อย ๆ คลายตัวลง
- นวดเบา ๆ แต่ไม่ควรกด เพราะจะยิ่งเจ็บ
- ประคบเย็นตรงที่มีอาการปวด จะช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยทั่วไปเมื่อพักแล้วตะคริวจะหายได้เองใน 5 นาที หรือภายหลังการยืดเหยียด 2-3 นาที
แม้ตะคริวจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก หรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ แต่หากเรารู้วิธีรับมือและวิธีการป้องกันที่ถูกต้องก็จะลดโอกาสการเกิดตะคริว และการเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเมื่อเกิดตะคริวได้
ข้อมูลโดย
ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตาม Rama Channel เพื่อรับข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: RAMA Channel
Facebook: รามาแชนแนล Rama Channel
LINE: Ramathibodi
Tiktok: ramachanneltv รามาแชนแนล ช่องของคนรักสุขภาพ