เซ็บเดิร์ม,โรคผิวหนัง
หน้าแรก
เซ็บเดิร์ม หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังที่ต้องทำความรู้จัก
เซ็บเดิร์ม หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังที่ต้องทำความรู้จัก

โรค เซ็บเดิร์ม หรือ ชื่อเต็ม โรค Seborrheic Dermatitis เป็น โรคผิวหนัง อักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง ถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่มีสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน เช่น ระดับของฮอร์โมนที่แปรปรวน หรือจากเชื้อยีสต์ เชื้อราบางตัว รวมถึงจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยจะส่งผลต่อจิตใจโดยตรง ทำให้ขาดความมั่นใจจากโรคผิวหนังเรื้อรัง ทั้งนี้การทำความเข้าใจต่อตัวโรค รวมถึงการควบคุมก็มีส่วนในการรักษา

ผื่นเซ็บเดิร์มคือ

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในสังคมไทย และยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุหลักในการเกิดโรค โดยจะมีตัวกระตุ้นที่จะทำให้เกิดได้ เช่น อากาศในหน้าร้อน ที่ทำให้ผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าหรือลำตัว โดยโรคดังกล่าวจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป

  • หากเกิดไม่รุนแรงจะมีลักษณะของผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อยร่วมกับมีอาการคัน
  • หากเกิดในระดับที่รุนแรงจะมีผื่นขึ้นในปริมาณมาก มีลักษณะเป็นผื่นแดง ผิวหน้าเป็นขุย และนอกจากจะขึ้นบนใบหน้าแล้ว อาจเกิดขึ้นบริเวณลำตัวร่วมด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันหรือเซ็บเดิร์ม

บริเวณที่พบบ่อยของผื่น เซ็บเดิร์ม

คือบริเวณใบหน้า โดยจะขึ้นที่หัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู ซึ่งเป็นบริเวณที่พบได้บ่อยที่สุด ในคนที่มีอาการรุนแรงจะพบบริเวณหน้าอกหรือแผ่นหลังด้วย ขณะที่บางรายก็อาจเกิดที่บริเวณหนังศีรษะเพียงอย่างเดียว

กลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือ

  • เด็กแรกเกิด – 2 เดือน ส่วนมากจะเกิดผื่นที่บริเวณศีรษะหรือใบหน้า
  • ช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น ลักษณะการเกิดคือเมื่อเริ่มมีการสร้างต่อมไขมันในไขมันขึ้นมาแล้วผื่นจะกำเริบขึ้น และปรากฎที่บริเวณใบหน้าและลำตัว

ผื่นเซ็บเดิร์มสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในหน้าร้อนและหน้าหนาว

โดยหน้าร้อนต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าจะสร้างซีบุ่มหรือไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเซ็บเดิร์มเกิดได้มากขึ้น ส่วนในหน้าหนาว เมื่ออากาศแห้งเกินไปก็จะกระตุ้นให้เกิดผื่นเซ็บเดิร์มได้เช่นกัน

การเกิดผื่น เซ็บเดิร์ม

เป็นการอักเสบจากภายใน ไม่ใช่การแพ้สัมผัสจากภายนอก มักเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น ภาวะเครียดทางจิตใจ ทำงานหนัก ใกล้สอบ อดนอน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นเซ็บเดิร์ม หรือบางรายที่เป็นผื่นเซ็บเดิร์มในบริเวณที่กว้างมาก อาจเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ เช่น HIV โรคพากินสัน หรือโรคระบบทางเดินประสาทบางชนิด ซึ่งต้องทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจ

อาการของเซ็บเดิร์มอาจมีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังบางชนิด

เช่น สิว วิธีการสังเกตคือหากเป็นสิวอุดตัน จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ หัวปิดหัวเปิด ตุ่มดำ ตุ่มหนอง ตุ่มอักเสบ นอกจากนี้ก็ยังมีโรค SLE หรือโรคพุ่มพวง ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่สามารถแยกออกจากกันได้เนื่องจากโรค SLE จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงที่ข้างแก้มเหมือนปีกผีเสื้อ และไม่ได้อยู่ชิดบริเวณข้างจมูกเหมือนกับผื่นเซ็บเดิร์ม

อีกหนึ่งโรคที่มีผื่นขึ้นเช่นกันก็คือโรคผื่นแพ้สัมผัส ซึ่งลักษณะของผื่นคล้ายกับเซ็บเดิร์มมาก แต่เมื่อมีการซักประวัติคนไข้จะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสองโรคได้ เพราะส่วนมากผู้ที่เป็นผื่นแพ้สัมผัสมักมีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ดูแลผิวใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ครีมยี่ห้อใหม่ โฟมล้างหน้ายี่ห้อใหม่ เป็นต้น ส่วน โรคผิวหนัง อื่นๆ อาจต้องตรวจละเอียดด้วยวิธีทางการแพทย์

ในส่วนของการแทรกซ้อนปกติแล้วโรคเซ็บเดิร์มไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา แต่โรคนี้อาจเกิดจากโรคอื่นที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้วได้ ในกรณีที่เป็นมากๆ จำเป็นต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอะไรอยู่หรือไม่ เช่น โรค HIV โรคพากินสัน หรือโรคทางระบบประสาทบางชนิด หรือแม้แต่การใช้ยาบางอย่างก็กระตุ้นให้เกิดเซ็บเดิร์มได้

โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคผิวหนังอักเสบที่ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ

นั่นหมายความว่าหากมีการสัมผัสผิวหนังคนที่เป็นโรคเซ็บเดิร์ม ก็จะไม่สามารถติดต่อกันได้ โดยวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวคือหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดเซ็บเดิร์ม เช่น หลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หลีกเลี่ยงสภาวะความเครียด และควรพักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด ที่กระตุ้นให้เกิดเซ็บเดิร์มได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ที่อาจเกิดจากพันธุรกรรมหรือสิ่งแวดล้อม หรือมีเพียงตัวกระตุ้นเท่านั้น สิ่งที่ทำได้คือการหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิด หรือถ้าหากเป็นแล้วก็ต้องป้องกันไม่ให้ผื่นกำเริบหรือลุกลาม

ข้อควรปฏิบัติหลังเกิดผื่น เซ็บเดิร์ม

ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี โดยโรคนี้รักษาได้ไม่ยาก และมีการใช้ยาทาเพียง 1-2 ชนิดเท่านั้น ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง และควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางทุกชนิด กรณีที่อยากแต่งหน้าปกปิดผื่นเซ็บเดิร์ม เป็นเรื่องที่ไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจไปกระตุ้นให้อาการแย่ลงหรือกลายเป็นผื่นชนิดอื่น เช่น การแพ้สัมผัสครีมหรือเครื่องสำอางบางตัว และอาจทำให้เกิดสิวได้อีกด้วย

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสภาวะความเครียดและควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดื่มน้ำเยอะๆ พยายามทำร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีมาตรฐาน เลือกค่า PH ที่บอกความเป็นกรดด่างไม่ให้มากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือเครื่องสำอางที่มัน และมีส่วนประกอบระคายเคืองผิว เช่น AHA หรือ วิตามินA สำหรับคนที่เป็นเซ็บเดิร์มบริเวณศีรษะ ควรใช้แชมพูสระผมที่ไม่ระคายเคืองหนังศีรษะ

การรักษาโรคเซ็บเดิร์ม

ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ หากอาการทุเลาลงเป็นเวลา 1-2 ปี เนื่องจากการดูแลรักษาที่ถูกวิธี เมื่อเริ่มมีอาการเกิดขึ้นใหม่ ในกรณีที่เครียดหรือตกอยู่ในภาวะที่ไปกระตุ้นทำให้เกิดโรคขึ้นอีกครั้ง เมื่อรู้ตัวก็สามาถรรีบทายาเพื่อควบคุมอาการไม่ให้เกิดมากหรือลุกลามได้

 

ข้อมูลจาก

อ. พญ.สุธินี รัตนิน

สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/

Website Rama mahidol : https://www.rama.mahidol.ac.th/

Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

0

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

4