บทความรามา ก.ย._๑๗๐๙๐๔_0002
หน้าแรก
อิทธิพลครอบครัว ที่ส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง

อิทธิพลครอบครัว ที่ส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง

ในวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเติบโตและมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและนิสัยใจคอของเด็ก โดยพื้นฐานจิตใจเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกและการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งอิทธิพลครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง

ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเด็กอย่างมาก ดังนั้นหากต้องการให้เด็กมีลักษณะนิสัยเป็นแบบไหน ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อหล่อหลอมเด็กให้มีพื้นฐานจิตใจและนิสัยที่ดี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

จุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นฐานนิสัยที่อ่อนโยนมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นในตัวเด็ก

คือครอบครัวต้องให้ความรักความเมตตากับเด็กก่อน ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเด็กจากพ่อแม่ของเด็กเอง เพื่อให้เด็กซึมซับกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงการกลัวว่าผู้อื่นจะได้รับความทรมาน หากเด็กได้รับจากพ่อแม่ก็จะรู้จักมอบสิ่งนั้นให้กับผู้อื่นด้วย

ตรงกันข้ามหากเด็กไม่เคยได้รับการเห็นอกเห็นใจ ไม่เคยได้รับความเมตตา ก็จะไม่รู้จักการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นไปด้วย ทำให้เด็กมีจิตใจแข็งกระด้าง ไม่รู้สึกสงสาร ไม่กลัวว่าผู้อื่นจะทรมาน และฝังอยู่ในพื้นฐานจิตใจเด็กส่งผลไปถึงตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ที่อาจทำร้ายผู้อื่นได้โดยไม่รู้สึกผิด

อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญต่อตัวเด็กก็คือเรื่องของค่านิยมที่ตัวเด็กจะได้รับ เริ่มต้นจะได้รับจากครอบครัวก่อนและต่อมาจะได้รับจากสังคมโรงเรียน หากค่านิยมในครอบครัวมีเรื่องต้องห้ามที่จะไม่ทำโดยเด็ดขาด จัดเป็นเรื่องที่ผิดและร้ายแรง เด็กจะจดจำในส่วนนั้นและหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นไปโดยปริยาย ดังนั้นพ่อแม่ควรสร้างค่านิยมที่ดีในครอบครัวขึ้นมา

ต่อมาในเรื่องของการแก้ปัญหาของคนในครอบครัวที่ส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ซึมซับ และเลียนแบบในที่สุด หากพ่อแม่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีไหน เด็กจะจดจำวิธีนั้นไว้ เช่น เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันหากแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง เด็กจะซึมซับและมองเป็นเรื่องธรรมดา หากเด็กมีปัญหาก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกัน นั่นก็คือตัดสินด้วยกำลังที่ไร้ซึ่งเหตุและผล ดังนั้นพ่อแม่ควรมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีและเหมาะสมเพื่อรองรับเมื่อเกิดปัญหาในแต่ละครั้ง

ช่วงวัยที่เด็กจดจำและซึมซับสิ่งต่างๆ ได้ดีที่สุด

ในทางทฤษฎีทางจิตเวชเชื่อว่ามโนธรรมหรือคุณธรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุ 3 ขวบขึ้นไป หรือในช่วงวัยอนุบาล (3-5 ขวบ) จะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้มากและเริ่มซึมซับกับเรื่องราวเหล่านั้น เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องของพฤติกรรมความรุนแรงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เด็กซึมซับหรือซึมซับน้อยที่สุด รวมถึงการพยายามแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมและอยากให้เด็กเป็น เพื่อให้เด็กซึมซับและเกิดการเลียนแบบ

หากเริ่มสังเกตเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือมีรายงานมาจากทางโรงเรียนว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับเพื่อนหรือกับครูบาอาจารย์ พ่อแม่ควรดูแลเอาใจใส่ให้มากๆ และรีบแก้ไขในส่วนนั้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เด็กติดนิสัยนี้ไปใช้ในอนาคต

สำหรับบางครอบครัวที่ไม่มีเวลาและต้องปล่อยเด็กให้อยู่กับพี่เลี้ยง อาจมีความกังวลในเรื่องของการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพี่เลี้ยง ในความเป็นจริงแล้วกรณีนี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือกรณีที่พ่อแม่กลับบ้านทุกวันและกรณีที่พ่อแม่กลับบ้านนานๆ ครั้ง อาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

หากเป็นกรณีแรกที่พ่อแม่กลับบ้านทุกวัน เด็กมีการอยู่กับพี่เลี้ยงในช่วงวันเท่านั้น

เมื่อตกเย็นพ่อแม่ก็จะกลับมาอยู่กับเขา มักไม่ค่อยเกิดปัญหามากนัก เพราะพ่อแม่ยังคงเป็นคนสำคัญกับเขา ส่วนพี่เลี้ยงยังเป็นแค่คนอื่น อิทธิพลที่มีผลต่อตัวเด็กยังคงเป็นพ่อแม่เหมือนเดิม หากเด็กเผลอเลียนแบบพฤติกรรมพี่เลี้ยงมาบ้าง โดนพ่อแม่ตำหนินิดหน่อยพฤติกรรมเหล่านั้นก็จะหายไปเอง

แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่สองที่พ่อแม่กลับบ้านนานๆ ครั้ง

ปล่อยให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงในระยะเวลาที่ยาวนาน หรือเด็กอยู่กับพี่เลี้ยงมากกว่าพ่อแม่มากเกินไป อาจส่งผลให้เด็กเห็นพี่เลี้ยงเป็นคนสำคัญได้ และพฤติกรรมของพี่เลี้ยงก็จะมีอิทธิพลต่อตัวเด็กมากเช่นกัน

ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการให้ความรักความเห็นใจ พยายามแสดงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก อยากให้ลูกเป็นคนแบบไหนก็ต้องเป็นคนแบบนั้นให้เด็กดูก่อน อยากให้เด็กทำแบบไหนก็ต้องทำแบบนั้นให้เด็กดูก่อน เพราะโดยปกติแล้วพ่อแม่คือคนสำคัญของเด็กเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าพ่อแม่เอาใจใส่ลูก ก็จะสามารถควบคุมเด็กได้โดยอัตโนมัติ เพราะเด็กเองก็อยากเอาใจพ่อแม่ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือพ่อแม่จะต้องมีกรอบที่ชัดเจนด้วย ควบคู่ไปกับการให้ความรัก เพื่อการอบรมสั่งสอนเด็กที่มีประสิทธิภาพ

ในกรณีที่เด็กมีการจดจำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปแล้ว

วิธีแก้ไขคือต้องพยายามหาสาเหตุให้เจอก่อน ที่พบบ่อยมักเจอในเรื่องของความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กและเด็กไม่สามารถจัดการกับความเครียดนั้นได้ ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว หากพบปัญหาพ่อแม่ต้องแก้ปัญหาที่ความเครียดนั้น เมื่อความเครียดนั้นหมดไป ปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะหายไปเอง และถ้าหากเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากพ่อแม่แสดงอาการก้าวร้าวใส่กัน วิธีแก้ไขคือให้พ่อแม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้น เด็กก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามพ่อแม่ไปเอง เพราะโดยปกติแล้วเด็กเป็นวัยที่แก้ไขได้ง่ายและชอบที่จะเลียนแบบพ่อแม่ซึ่งเป็นคนสำคัญ

สำหรับเด็กที่ซึมซับพฤติกรรมไม่เหมาะสมมาจากภายนอก

ทั้งที่ภายในครอบครัวทำตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดีและเหมาะสมแล้วทุกอย่าง ส่วนมากมักเกิดกับเด็กในช่วงวัยรุ่นมากกว่าวัยเด็ก โดยเฉพาะเรื่องของการเลียนแบบเพื่อนที่อาจส่งผลให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมติดไปในอนาคต วิธีแก้ไขคือพ่อแม่ต้องพยายามสังเกตพฤติกรรมลูกอย่างสม่ำเสมอและคอยห้ามปราม แต่การจะจัดการกับเด็กวัยนี้ได้ต้องใช้เทคนิคที่เหมาะสม ไม่สามารถห้ามปรามในทุกเรื่องได้ เพราะเด็กจะไม่ยอมฟังเด็ดขาด พ่อแม่ควรห้ามเฉพาะเรื่องที่ร้ายแรงจริงๆ

ควบคุมดูแลในเรื่องของการใช้สื่อทั้งออฟไลน์ (โทรทัศน์ หนังสือ ฯลฯ) และออนไลน์

พ่อแม่ควรเฝ้าสังเกตว่าลูกให้ความสนใจเรื่องอะไร คอยสอดส่องอยู่ห่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้ลูกเสพสื่อที่ไม่เหมาะสม และพยายามอย่าให้เด็กเสพสื่อในพื้นที่ส่วนตัว แต่ควรอยู่บริเวณโถงบ้านที่พ่อแม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกรับชมเนื้อหาประเภทไหน พยายามให้อิสระเด็กตามความเหมาะสมแต่ก็มีขอบเขตกำหนดไว้ ไม่ควรห้ามทุกเรื่องแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรปล่อยปะละเลยมากจนเกินไป

สรุปภาพรวมในเรื่องของอิทธิพลครอบครัวที่ส่งผลต่อตัวเด็ก

จัดว่าสถาบันครอบครัวมีความสำคัญมากที่สุดทั้งในวัยเด็กและวัยรุ่น ที่จะหล่อหลอมให้เด็กเป็นคนแบบไหน ประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร ดังนั้นควรให้ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่และอบรมสั่งสอนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกเด็กอยู่เสมอ

 

ข้อมูลจาก
ผศ. น.ท. นพ.มนัท สูงประสิทธิ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ ““อิทธิพลครอบครัว”ส่งผลต่อพฤติกรรมตอนโตเด็กจริงหรือไม่! : Rama Square ช่วง จิตคิดบวก” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

10-สัญญาณเตือน-ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ-Low-self-esteem
สัญญาณการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) เช่น วิจารณ์ตัวเองเกินไป กลัวการล้มเหลว และไม่มั่นใจในตัวเอง อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์
บทความสุขภาพ
04-12-2024

3

ยาแก้อักเสบVSยาฆ่าเชื้อ เหมือนหรือต่าง
ยาแก้อักเสบช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ส่วนยาฆ่าเชื้อใช้กำจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ ทั้งสองชนิดทำงานต่างกันและใช้ในกรณีที่ต่างกัน
บทความสุขภาพ
01-12-2024

4

โรคฝีดาษลิง ไวรัสอันตรายจากลิงสู่คน
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีอาการไข้ ผื่นตุ่มหนอง และปวดเมื่อย พบมากในพื้นที่ที่มีการสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรง
บทความสุขภาพ
30-11-2024

5

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการ สาเหตุ การป้องกัน
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากพฤติกรรมการกินและปัจจัยทางพันธุกรรม อาการเริ่มต้นไม่ชัดเจน ควรตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง
บทความสุขภาพ
29-11-2024

5