ปวดตามร่างกายไม่ว่าจะเป็น ปวดหลัง ไหล่ หรือคอ ส่วนใหญ่มักพบว่าเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลามากกว่า 8-12 ชั่วโมง หรือการนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกต้องรับน้ำหนักมากเกินไป และนำไปสู่ภาวะ หมอนรองกระดูกเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
หมอนรองกระดูกเสื่อม
เป็นภาวะความเสื่อมของหมอนรองกระดูกหรือชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีหน้าที่ในการลดแรงกระแทกและกระจายน้ำหนักที่ส่งไปยังกระดูกสันหลังภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม สามารถเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงที่ใช้กระดูกสันหลังไม่เหมาะสม เช่น การนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง
สาเหตุ หมอนรองกระดูกเสื่อม
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน แบกของหนัก
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ได้รับอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลัง
อาการเสี่ยงหมอนรองกระดูกเสื่อม
- ปวดบริเวณคอ ปวดหลัง เอว ไหล่ หรือหลังช่วงล่าง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์
- ปวดทั่วแผ่นหลัง และปวดมากขึ้นบริเวณเอวอาจลามไปถึงขา
- อาการเป็นมากขึ้นเวลานั่ง ก้มตัวหรือยกของหนัก
- มีอาการเจ็บหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
ระยะอาการ หมอนรองกระดูกเสื่อม
- ระยะที่ 1 อาการในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณหลังเป็น ๆ หาย ๆ อาการเป็นมากขึ้นเวลานั่งนาน ก้มตัว หรือยกของหนัก ซึ่งผู้ป่วยจะยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ แต่หากปล่อยไว้นานมากเกินไปผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเกิดอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้นจนมีรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่หมอนรองกระดูกเริ่มมีการเคลื่อนหรือปลิ้นออกมาจนทับเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวตั้งแต่ช่วงคอลงไปถึงแขน หรือจากบริเวณหลังลงไปถึงขาจรดเท้า ในบางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย
- ระยะที่ 3 เป็นอาการระยะสุดท้ายที่ถือว่ามีความรุนแรงและเป็นอันตราย เมื่อมีการกดทับของเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ชา และมีอาการอ่อนแรงเพิ่มมากขึ้น ในบางรายจะมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายร่วมด้วย เมื่อเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงเป็นเวลานานทำให้ผู้ป่วยในระยะนี้มีความเสี่ยงต่อความพิการ จึงต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วมากที่สุด
วิธีการรักษา
วิธีการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและยังไม่มีการกดทับของเส้นประสาท แพทย์จะดำเนินการรักษาเพื่อประคับประคองอาการ โดย
- ให้ยารับประทานบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ หรือยาที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อ
- การฉีดยาบริเวณโพรงเส้นประสาทไขสันหลัง เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ
- ทำกายภาพบำบัด เช่น ดึงหลัง การฝึกยืดกล้ามเนื้อ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การประคบอุ่นและเย็น การใส่อุปกรณ์ที่พยุงหลัง เพื่อลดอาการปวด
- เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น ให้หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ การปรับท่านั่ง ยืน เดิน หรือยกของให้เหมาะสมถูกวิธี
- แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลัง
หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นหรือตรวจพบว่ามีการกดทับของเส้นประสาท แพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยวิธีการ ดังนี้
- การผ่าตัดส่องกล้องแพทย์จะนำกล้องสอดผ่านทางแผลขนาดเล็กเพื่อนำส่วนที่กดทับเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกส่วนที่เสื่อมออกเป็นวิธีการรักษาที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อยและลดเวลาในการฟื้นตัว
- การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการปวดที่เกิดขึ้นจากหมอนรองกระดูกเสื่อมเมื่อมีการขยับตัว
- การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อมสภาพออก จัดเรียงแนวกระดูกและใส่หมอนรองกระดูกสันหลังเทียมทดแทน
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.สรวุฒิ ธรรมยงค์กิจ
ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel