อาการปวดร้าว_6
หน้าแรก
อาการปวดร้าวที่กระดูกแบบไหนต้องรีบพบแพทย์ด่วน
อาการปวดร้าวที่กระดูกแบบไหนต้องรีบพบแพทย์ด่วน

ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว อาการปวดร้าวที่กระดูกถือเป็นอีกหนึ่งอาการที่หลายคนพบเจอ เนื่องจากการใช้ร่างกายที่ไม่เหมาะสม หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาด บ้างเกิดจากอายุที่มากขึ้น บ้างก็อาจเกิดจากการออกกำลังกาย และอื่น ๆ ทั้งยังคงเป็นปัญหาให้หลายคนที่เป็น ใช้ชีวิตผิดปกติไปจากเดิม โดยระดับอาการยังมีตั้งแต่น้อยไปถึงมาก อาจต้องพบแพทย์หรือไม่ก็ได้ เพราะบางระดับอาการก็สามารถบำบัดได้ด้วยตนเอง วันนี้เราก็มีข้อมูลมาฝากว่าอาการปวดร้าวที่กระดูกแบบไหน ที่ควรพบแพทย์บ้าง

อาการปวดร้าวที่กระดูกมีหลายแบบ

ตั้งแต่ตำแหน่งที่ปวด รวมไปถึงระดับอาการที่ปวด หากเป็นไม่มากก็สามารถกายภาพหรือบำบัดด้วยตนเองที่บ้านได้ อาการเหล่านั้นก็จะหายไป แต่บางอาการก็ต้องพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

โดยทั่วไปหากเกิดอาการปวดร้าวที่กระดูก ให้ทำการบำบัดด้วยตนเองก่อน

โดยการนั่งพักสักครู่หนึ่ง แล้วดูว่าอาการนั้นดีขึ้นหรือไม่ หากนั่งพักแล้วอาการค่อย ๆ ดีขึ้นจนกระทั่งหายไป อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้าหากอาการยิ่งทรุดหนัก มีอาการปวดมากขึ้น อาจต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับระยะทางในการเคลื่อนไหวด้วย รวมถึงอายุก็มีส่วนเช่นกัน อย่างในบางรายที่มีอายุมากการเดินในระยะทาง 1 กิโลเมตรแล้วรู้สึกปวดร้าว นั่งพักแล้วหาย อันนั้นอาจเป็นเรื่องปกติในคนอายุเยอะ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้าหากอายุยังน้อยแล้ววิ่งไปได้เพียงระยะทาง 1 กิโลเมตรก็รู้สึกปวดมากจนไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้อีก อันนี้อาจไม่ปกติและควรพบแพทย์โดยด่วน เพื่อประเมินอาการต่อไป

ยกตัวอย่าง

กรณีหญิงสูงอายุที่รู้สึกปวดข้างหลังแล้วร้าวลงมาที่ขา เมื่อเดินไปได้สักระยะ 1- 2 กิโลเมตร ให้ลองนั่งพักสักครู่ ถ้าหากนั่งพักแล้วหาย แปลว่ายังไม่ถึงขั้นที่ต้องพบแพทย์ ให้บำบัดด้วยตนเองโดยการนั่งพักทุกครั้งที่เกิดอาการปวดร้าวที่กระดูกขึ้น และยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอะไรต้องกังวล โดยอาการดังกล่าวคืออาการของหลังกระดูกทับเส้น ซึ่งจะร้าวลงมาที่ขา รู้สึกชาที่ขา อาการดีขึ้นได้เมื่อนั่งพักสักครู่หนึ่ง

แต่ถ้าหากวันใดที่พบว่าระยะทางในการเดินนั้นสามารถทำได้น้อยลง และรู้สึกปวดร้าวมากขึ้น ทานยาแก้ปวดหรือพาราเซตามอลแล้วไม่หาย นั่งพักแล้วไม่หาย อาการแบบนี้ควรพบแพทย์

อย่างในกรณีต่อมาหญิงสาวอายุไม่ถึง 30 ปี มีอาการเจ็บที่หน้าแข้งขณะวิ่งออกกำลังกาย โดยมีอาการตั้งแต่วิ่งไปได้เพียงระยะสั้น ๆ ประมาณ 0.5 กิโลเมตร กระทั่งถึง 1 กิโลเมตรก็รู้สึกเจ็บมากจนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ ตำแหน่งที่เจ็บอยู่บริเวณหน้าแข้ง อาการเหมือนกระดูกจะแตก แบบนี้ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการเอ็กซเรย์ดูว่ากระดูกมีปัญหาหรือไม่อย่างไร โดยอาการนี้สามารถเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง อาจมีปัญหาที่กระดูกหรือไม่ก็มีปัญหาที่กล้ามเนื้อ เพราะโรคกระดูกบางโรคที่ในเนื้อกระดูกมีปัญหา จะทำให้เจ็บหน้าแข้งได้

แต่อีกประการหนึ่งคือกลุ่มของโรคกล้ามเนื้อที่ทำให้เวลาออกกำลังกายสามารถเจ็บหน้าแข้งได้เช่นกัน เนื่องจากว่ากล้ามเนื้อจะเกาะที่กระดูก จึงควรเอ็กซเรย์ดูจะดีที่สุด ซึ่งถ้าหากไม่เจอความผิดปกติใด ๆ ก็อาจต้องไปดูในเรื่องของพฤติกรรมการออกกำลังกายว่าก่อนออกกำลังกายมีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมหรือไม่ หรืออาจเป็นที่ท่าวิ่งไม่เหมาะสม ซึ่งมีส่วนทำให้เจ็บหน้าแข้งได้เช่นกัน

ยังมีอีกหนึ่งอาการปวดที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่น้อย นั่นก็คือ

อาการของโรคไหล่ติด จะมีลักษณะปวดบริเวณไหล่ตรงจุดที่แขนต่อจากไหล่ เวลายกแขนจะมีปัญหายกไม่ค่อยขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น หวีผมยาก ใส่เสื้อชั้นในยาก เป็นต้น โดยจะปวดทั้งสองข้าง ซึ่งจะปวดทีละข้างเมื่อข้างหนึ่งหาย อีกข้างจะปวดต่อกัน พบมากในผู้หญิงอายุ 40- 50 ปี ใช้เวลา 1-2 ปีโรคไหล่ติดจะหายไปเองโดยธรรมชาติ สามารถบำบัดได้ด้วยตัวเองด้วยการประคบน้ำอุ่นบริเวณรอบ ๆ หัวไหล่ แต่ถ้าทนไม่ไหวให้ทานยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอล  หรือยาคลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังสามารถบำบัดได้ด้วยท่าบริหารต่าง ๆ 6-7 ท่า สำหรับการแก้ปัญหาไหล่ติดโดยเฉพาะ โดยธรรมชาติของโรคนี้จะมีอายุประมาณ 3 เดือนถึง 2 ปี ก็จะหายไปเอง ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

 

ข้อมูลจาก
นพ.ศิวดล วงศ์ศักดิ์
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “โรคกระดูก : พบหมอรามา ช่วง ลัดคิวหมอ” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8