อัมพาตครึ่งซีก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคร้าย เพราะทำให้คนไข้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่บางกรณีก็สามารถบำบัดรักษาโรคได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการบำบัดอาการให้ดีขึ้นกว่าที่ผู้ป่วยประสบอยู่
การบำบัดอาการเพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีอาการดีขึ้นด้วยตนเอง
สามารถทำได้โดยการกายภาพบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าว เป็นต้น รวมถึงการลุกเดินและไปในที่ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับการใส่เสื้อผ้าด้วยตนเองของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
ในกรณีที่ผู้ป่วยยังพอมีกำลังหรือมีแรงอยู่บ้าง ทำได้โดยการใช้เสื้อที่มีลักษณะผ่าหน้า กระดุมเม็ดใหญ่กว่าปกติ และมีแขนเสื้อที่ใหญ่สวมใส่ได้ง่าย รวมถึงมีขนาดที่ใหญ่ไม่รัดรูปเกินไป
สาธิตการใส่เสื้อด้วยตนเองของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
สมมติว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงที่ซีกซ้าย ให้ทำการวางเสื้อคว่ำหน้าลง แล้วพับแขนเสื้อขึ้นประมาณ 4-5 ทบ (ญาติพับให้) จากนั้นผู้ป่วยใช้มือขวาจับแขนเสื้อย่นขึ้นไปจนถึงบริเวณที่พับไว้แล้วดันแขนเสื้อสวมเข้าไปที่แขนซ้ายจนมือโผล่ขึ้นมา แล้วใช้มือค่อย ๆ ไล่ไปจนกระทั่งเสื้อปกคลุมไปถึงหัวไหล่ แล้วใช้มือขวาตวัดเสื้ออ้อมลำตัวไปอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นพยายามใช้แขนข้างขวาสวมเข้าไปในแขนเสื้อตามลำดับ แล้วค่อย ๆ ติดกระดุมด้วยมือขวาข้างเดียว
การสอนให้ผู้ป่วยใส่เสื้อด้วยตนเอง
เป็นการกายภาพที่ช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงการกินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ และมีการฝึกยืนฝึกเดินไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัยตามลำดับ
ในกรณีที่คนไข้ยังไม่พร้อมที่จะเดินหรือยืน
สามารถออกกำลังกายขณะนั่งได้ อันดับแรกเลยคือการป้องกันไม่ให้ข้อติด โดยการยืดกล้ามเนื้อต่าง ๆ และขยับข้อต่าง ๆ เพื่อรองรับกับอนาคตของคนไข้ที่จะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้บ้าง เพราะถ้าหากข้อติดจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา
การบริหารข้อต่าง ๆ เพื่อป้องกันข้อติด ได้แก่
- ข้อบริเวณหัวไหล่ ใช้มือข้างที่ปกติจับมือข้างที่อ่อนแรงไว้ แล้วค่อย ๆ ยกแขนขึ้นยืดจนสุด (เท่าที่คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ) จากนั้นค้างไว้แล้วนับ 1-10 แล้วค่อย ๆ เอาลงช้า ๆ
- ข้อศอก ใช้มือข้างที่ปกติจับมือข้างที่อ่อนแรงไว้และงอขึ้นค้างไว้แล้วนับ 1-10 จากนั้นเหยียดตรงไปข้างหน้าค้างไว้แล้วนับ 1-10 ทำสลับไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ครั้ง
- ข้อมือ เอามือประกบกันแล้วดันข้างที่อ่อนแรงออกไปให้ข้อมือหัก เหยียดข้อมือให้รู้สึกตึง แล้วจับให้นิ้วมากำไว้ให้แน่น จากนั้นตามด้วยการดัดนิ้วต่อ
หลักการสำคัญในการบริหารคือให้ยืดเท่าที่คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บแล้วค้างไว้นับ 1-10 จากนั้นค่อย ๆ เหยียดกล้ามเนื้อให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ การขยับขาก็เช่นกัน ให้เอาข้างที่ดีมาซ้อนข้างที่อ่อนแรงไว้แล้วเตะออกจากนั้นค้างไว้นับ 1-10
ผู้ป่วยที่ผลการฟื้นฟูได้ผลดี ต้องมีลักษณะ ดังนี้
- ต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
- มีการฟื้นตัวของความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้เร็ว ภายใน 1-2 สัปดาห์
- มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำตัว สะโพก หัวไหล่ โดยเร็ว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนต้นได้ภายใน 2-4 สัปดาห์
- มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อแต่ละมัดโดยเร็ว สามารถควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละมัดได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
- อารมณ์ดีไม่มีอาการซึมเศร้า
- มีการรับรู้ที่ดี
ข้อมูลจาก
อ. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล