ภาวะหลงลืม หลายคนอาจมองว่าเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีอาการ หลงลืม บ่อย สับสน อาจเกิดจากการทำงานของสมองซึ่งมีความผิดปกติที่เรียกว่า โรคสมองเสื่อม จึงทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันรวมไปถึงพฤติกรรมและอารมณ์ต่าง ๆ ที่แสดงออกมา
โรคสมองเสื่อม คืออะไร
ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์สมอง ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการจดจำ การรับรู้ การเข้าใจ หลงลืม จนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ และอาจมีอาการรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงตามช่วงเวลา สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ – 5 สัญญาณโรคสมองเสื่อม
สาเหตุของการเกิดโรคสมองเสื่อม
- สมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ ทำให้ความสามารถด้านการรู้คิดเริ่มเสื่อมลงซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกคือ การสูญเสียความทรงจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น หรือเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น หลังจากนั้นจะเกิดอาการด้านต่าง ๆ ทั้งการตัดสินใจ การสื่อสาร รวมไปถึงปัญหาด้านพฤติกรรม
- สมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ มักเกิดกับผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ส่งผลให้สมองส่วนความคิด ความจำ สูญเสียได้
- สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ขาดวิตามิน วิตามินบี 12 และโฟเลต
ปัจจัยเสี่ยงอาจทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- พันธุกรรม เช่น มีพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
- ได้รับยาที่มีผลต่อจิตประสาทต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยานอนหลับ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
- มลภาวะทางอากาศ
- มีกิจกรรมทางกายลดลง
- หูตึง การได้ยินลดลง
- ภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล
- การแยกตัว ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น
อาการเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อม
- สูญเสียความทรงจำระยะสั้น
- พูดไม่รู้เรื่อง เรียงลำดับคำผิด
- สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หงุดหงิดโมโหง่ายขึ้น
- เป็นคนเฉื่อย ซึม ไม่กระตือรือร้น นิ่งเฉยต่อสิ่งรอบตัว
- ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
โรคสมองเสื่อม อาการ
ภาวะสมองเสื่อมสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่จะมีอาการน้อยซึ่งผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์หรือความสนใจรอบข้างลดลง ผู้ป่วยในระยะนี้จะสามารถอยู่คนเดียวและพึ่งพาตัวเองได้ดีโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
- ระยะที่ 2 ระยะกลางที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีความบกพร่องด้านความเข้าใจ ความสามารถในการเรียนรู้ รวมไปถึงการตัดสินใจ และผู้ป่วยอาจมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เช่น ประสาทหลอน
- ระยะที่ 3 ระยะที่มีความรุนแรงผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำเรื่องราวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นได้และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ เคลื่อนไหวช้า กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
- ระยะที่ 4 ระยะติดเตียงผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองทั้งด้านการเคลื่อนไหวและรวมไปถึงการลืมกลืนอาหาร
หากเป็นโรคสมองเสื่อมรักษาได้อย่างไรบ้าง
- การรักษาผู้ป่วย โรคสมองเสื่อม โดยการไม่ใช้ยา วิธีรักษาโรคสมองเสื่อม โดยการไม่ใช้ยา จะใช้การฝึกกระตุ้นสมอง เช่น การเล่นเกม ปรับพฤติกรรมผู้ป่วย ลดความเครียดความกังวล ออกกำลังกาย ปรับที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมกับผู้ดูแลหรือครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อสร้างความเข้าใจ และสามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
- การรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยการใช้ยา วิธีรักษาโรคสมองเสื่อม โดยการใช้ยา แพทย์พิจารณาให้ยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการทางสมองเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดูแลตนเองได้ ซึ่งต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ข้อมูลจาก
อ. นพ.ศรัณย์ ธนพฤฒิวงศ์
สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
Website Rama mahidol : https://www.rama.mahidol.ac.th/
Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel