หมอรามาฯ แนะหน้าฝนระวัง “โรคเชื้อราบนผิวหนัง”
เชื้อรา สามารถทำให้เกิดโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน เชื้อราในเล็บ เชื้อราที่ผม ฮ่องกงฟุต และโรคผิวหนังอีกมากมาย ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมาจากการสัมผัสเชื้อราโดยตรง สภาพแวดล้อมที่ผิวหนังเผชิญ เช่น ผิวหนังมีบาดแผล ผิวหนังเปื่อยจากความชื้น เป็นต้น
โรคเชื้อราพบได้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ชนิดของเชื้อรา
- อุณหภูมิ
- ความชื้นของอากาศ
- สุขอนามัย
- สิ่งแวดล้อม
เชื้อราที่ผิวหนังเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- เชื้อราที่ผิวหนังชั้นตื้น (ชั้นขี้ไคล) ซึ่งพบได้บ่อย เช่น กลาก เกลื้อน
- เชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึก (ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง)
วิธีสังเกตโรคเชื้อราบนผิวหนัง
- โรคกลาก จะเป็นลักษณะเป็นวงขอบเขตชัด โดยที่ขุยหรือสะเก็ดมักจะอยู่ที่ขอบ อาจจะมีขอบแดงได้ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั่วตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า
- โรคเกลื้อน สีผิวของเราจะเปลี่ยนแปลงเป็นวงๆ สีขาว หรือสีคล้ำ อยู่บริเวณหน้าอกหรือหลัง
- เชื้อแคนนิด้า เป็นจุดแดงกระจายๆ พบตามข้อพับต่างๆ รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม
เชื้อราที่ผิวหนังหากเราปล่อยไว้ก็จะมีอาการผื่นคัน ผู้คนส่วนใหญ่มักจะชอบแกะเกา ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เช่น เชื้อจำพวกแบคทีเรีย ซึ่งอันตรายและสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของเราได้
การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังมีทั้งแบบการใช้ยาทา หรือยากิน
แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นยาทา ยกเว้นในบางกรณี เช่น ติดเชื้อราที่หนังศีรษะ ผม เล็บ พวกนี้จะต้องใช้ยารับประทาน
การเลี้ยงสัตว์ในบ้านก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเชื้อราเพิ่มมากขึ้น
เพราะตามขนของสัตว์เลี้ยงมักมีเชื้อแบคทีเรียอยู่แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดผื่นบนตัวของสัตว์ เมื่อเราไปสัมผัสคลุกคลีก็สามารถติดเชื้อราได้ รวมถึงเชื้อราจากสัตว์จะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าคนสู่คนอีกด้วย เพราะฉะนั้นแพทย์จะไม่แนะนำให้เลี้ยงสัตว์ในห้องนอน
การป้องกันโรคเชื้อรา
- รักษาสุขภาพอนามัยพื้นฐาน สุขบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพราะเชื้อรามักติดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
- รักษาร่างกายไม่ให้เปียก ชื้น ทั้งมือและเท้า รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ ไม่ใช้ร่วมกันผู้อื่น
- ไม่คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อรา
- รักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใช้ยาที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง และมาพบแพทย์สม่ำเสมอ
ข้อมูลจาก
อ. พญ.สาลินี โรจน์หิรัญสกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล