โรคมือ เท้า ปาก ถือเป็นโรคที่เราสามารถพบได้มากในช่วงหน้าฝน จากข้อมูลสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 มิ.ย. 59 พบผู้ป่วยแล้ว 20,777 คน ทั่วประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งปีนี้มีผู้ป่วยมากกว่าปกติ “แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดการระบาด” แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน
ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ถือว่าเป็นช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดของโรคมือ เท้า ปาก จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดในปีนั้นๆ ด้วย
อาการของโรคมือ เท้า ปากในเด็ก
- เด็กจะมีไข้ บางคนอาจจะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำแตกต่างกันไป
- มีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำเล็กๆ เกิดขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- มีแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน เจ็บปาก
- น้ำลายไหล
- อาการหนักในช่วง 2-3 วันแรก
- ส่วนใหญ่เด็กสามารถหายได้เอง จะมีส่วนน้อยมากๆ ที่จะมีอาการทางระบบประสาทและหัวใจ ซึ่งต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
การติดต่อของโรค
- โรคมือ เท้า ปาก หลักๆ เกิดจาก เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และเชื้อไวรัสอีกหลายๆ ตัว
- ติดต่อจากการสัมผัส เช่น เด็กติดเชื้อผ่านทางน้ำลายแล้วหยดลงไปในของเล่น เด็กอีกคนมาเล่นต่อแล้วเอาเข้าปากก็ทำให้ติดโรค หรือติดเชื้อผ่านทางอุจจาระ ซึ่งตรงนี้เราจะแนะนำพี่เลี้ยงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ควรจะล้างมือให้สะอาดด้วย และที่สำคัญบางทีเด็กที่หายแล้วอาจจะยังมีเชื้อในอุจจาระอยู่หลายสัปดาห์ตรงนี้ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน
- กว่า 70% มักเกิดในเด็กอายุ 5 ปี เพราะภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง
- การป้องกันในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา แต่ส่วนมากโรคนี้จะสามารถหายเองได้
- โรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะมีไวรัสหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่ครั้งที่ 2 มักจะไม่รุนแรง เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันบางส่วนแล้ว
ข้อมูลจาก
อ. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
คลิกชมคลิปรายการ “รายการพบหมอรามา | Big Story โรคมือเท้าปาก อันตรายใกล้ตัวเด็ก” ได้ที่นี่
YouTube: https://youtu.be/o1glRcyT-eI