เรื่องของสารอันตรายในเครื่องสำอางยังคงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการแพร่ข้อมูลในจำนวนมากอยู่แล้วก็ตาม แต่ด้วยข่าวคราวที่ออกมาเป็นระยะ ๆ ถึงผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้ง
ล่าสุดก็มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ถึงการแต่งหน้าของเด็กสาวพนักงานเสิร์ฟหนึ่งรายที่มีใบหน้าเรืองแสงตอนกลางคืนในที่มืดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และหลายคนสงสัยอยู่ว่าเครื่องสำอางที่หญิงสาวใช้มีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ทางเราจึงถือโอกาสนี้หยิบข้อมูลในเรื่องของสารอันตรายในเครื่องสำอางมานำเสนอเพื่อเป็นการให้ความรู้กับคนทั่วไป
สารอันตรายในเครื่องสำอางนั้น สามารถส่งผลกระทบต่อผิวหนังได้สองรูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- การระคายเคือง โดยการระคายเคืองนั้นเกิดจากฤทธิ์ที่เป็นกรดอ่อนๆ
- การเกิดอาการแพ้ สามารถเกิดได้กับทุกอย่าง เช่น สารกันบูด น้ำหอม เป็นต้น
ทั้งสองอาการจะทำให้ผิวหนังเกิดความผิดปกติ เช่น ผิวแดง บวม แสบร้อน หรืออาการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและตัวสารที่ได้รับ
สำหรับสารอันตรายในเครื่องสำอางที่องค์การอาหารและยาสั่งห้ามใช้ในเครื่องสำอาง คือ
สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ และสารปรอท สารเหล่านี้ไม่ควรผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการควบคุมโดยแพทย์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายและผลข้างเคียง
สารปรอทและสารไฮโดรควิโนนที่อยู่ในเครื่องสำอางจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ทำให้ผิวแดง บวม แสบร้อน นอกจากนี้สารไฮโดรควิโนนยังทำให้เกิดจุดขาวทั่วใบหน้า เนื่องจากการตายของเซลล์สร้างเม็ดสีที่เป็นผลข้างเคียงของสารดังกล่าว อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดฝ้าถาวรได้ด้วย
ขณะที่สารปรอทนอกจากจะระคายเคืองต่อผิวแล้วยังส่งผลต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายได้ด้วย หากมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอาการเป็นพิษต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ และอันตรายต่อไต ไม่เพียงเท่านั้น
สารทั้งสองยังไปยับยั้งการกระตุ้นกระบวนการสร้างเม็ดสีหรือเมลานิน ซึ่งเกี่ยวกับความหมองคล้ำ หากเมลานินถูกยับยั้งจะส่งผลข้างเคียงคือเกิดอาการแพ้หรือลมพิษ โดยความรุนแรงของผลลัพธ์นั้นขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์และตัวบุคคล
ส่วนสารที่ได้รับอนุญาตให้ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ผิวขาว ได้แก่
สารอาร์บูติน สารสกัดชะเอมเทศ สารอนุพันธ์ของวิตามินซี เป็นต้น
ทางที่ดีผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง และมีเลขทะเบียนจดแจ้ง บรรจุภัณฑ์มีชื่อผู้ผลิตและส่วนผสมที่ชัดเจน ผู้จำหน่ายมีหลักแหล่ง เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และควรสังเกตอาการแพ้หลังใช้งาน โดยการทาที่ท้องแขนแล้วสังเกต 7 วัน หากพบว่ามีความผิดปกติให้หยุดใช้และรีบพบแพทย์ทันที
ข้อมูลจาก
รศ. พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
หน่วยผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล