อาการแปลก ๆ แบบไหนที่เป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่มือใหม่ต้องรีบไปพบแพทย์
1. อาการเลือดออก
มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด การติดเชื้อในปากมดลูก การมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือมีภาวะการเจ็บครรภ์คลอด สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะเลือดออกทางช่องคลอดได้ สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดไม่ว่าอายุครรภ์จะเท่าไหร่ก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เมื่อรู้สาเหตุก็จะรู้ถึงความสำคัญหรืออันตรายว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง
2. การดิ้นของลูกในครรภ์ผิดปกติ
ปกติทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และเมื่อถึง 28 สัปดาห์จะรู้สึกมากขึ้น บางรายอาจจะรู้สึกเป็นแรงเตะ แรงถีบ หรือแรงขยับของแขนขา การที่หมอให้นับจำนวนครั้งของการดิ้นเป็นการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถประเมินได้ด้วยตัวของคุณแม่เอง หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงหรือวันนี้ยังไม่ดิ้นเลย ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ควรจะไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า
3. อาการแพ้ท้อง
โดยปกติผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเกิดอาการแพ้ท้องได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม เบื่ออาหารหรือเหม็นอาหาร ทั้ง ๆ ที่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ไม่มีอาการแบบนี้ ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ แต่ว่ายังรับประทานอาหารพอได้ถือเป็นอาการที่ค่อนข้างปกติ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเกิน 14 สัปดาห์ ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ได้ระดับ อาการพวกนี้จะหายไปเองโดยธรรมชาติ ส่วนอาการที่ถือว่าผิดปกติคือ คลื่นไส้ อาเจียนมากจนกินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด มีอาการขาดสารอาหาร ขาดน้ำ เช่น ใจสั่น ปัสสาวะออกน้อย พวกนี้ถือว่าผิดปกติ ต้องรีบมาตรวจที่โรงพยาบาล เพราะว่าอาจจะต้องได้รับสารทดแทนทางน้ำเกลือ หรือให้วิตามินเสริมทางน้ำเกลือ
4. อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
โดยปกติหญิงใกล้คลอดในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเจ็บครรภ์ การเจ็บครรภ์มี 2 แบบ
- แบบแรกคือ การเจ็บครรภ์เตือน จะรู้สึกว่ามีท้องแข็งเกิดขึ้น แต่ไม่สม่ำเสมอ พวกนี้จะสัมพันธ์กับการทำงาน เดินนาน ๆ ยืนนาน ๆ บางทีมันกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์ได้บ้าง เมื่อเราพักก็จะหายไปเอง
- แบบที่สองคือ ถ้าอาการเจ็บครรภ์นั้นสม่ำเสมอ ปวดมากขึ้น แรงมากขึ้น ความถี่มากขึ้น อาการนี้จะทำให้เข้าสู่กระบวนการคลอดได้ มีการเปิดของปากมดลูกร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในกรณีที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดแล้วเข้าสู่กระบวนการคลอด ถ้าเราปล่อยไว้ให้กระบวนการคลอดดำเนินไปเรื่อย ๆ ทารกก็จะคลอดออกมา มีปัญหาเรื่องการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น ไม่แน่ใจว่ามันถี่ขึ้นหรือเปล่าหรือรู้สึกว่าผิดปกติมากขึ้น ต้องมาตรวจดูว่าการบีบตัวของมดลูกสม่ำเสมอมากน้อยขนาดไหน รวมถึงมีการตรวจภายในเพื่อประเมินดูการเปิดของปากมดลูก
คำว่า ท้องแข็ง เป็นคำที่เราใช้อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น เป็นการบีบตัวของมดลูกซึ่งเมื่อจะเข้าสู่ภาวะคลอด จะมีการแข็งตัวของมดลูกเกิดขึ้น ท้องจะมีอาการปวด บีบ ๆ เกร็ง ๆ ถ้าเอามือไปจับบริเวณมดลูก จะรู้สึกว่ามันแข็ง อาการนี้โดยทั่วไปจะเป็นอยู่ประมาณ 45-60 วินาที แล้วก็จะหายไป ถ้าเข้าสู่กระบวนการคลอด อาการนี้จะกลับมาทุก ๆ 5-10 นาที หรือถี่ขึ้นเป็น 2-3 นาที
5. การที่มีน้ำเดินหรือน้ำคร่ำแตก
น้ำเดินหมายถึง มีน้ำคร่ำไหลออกจากช่องคลอด คือมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ ซึ่งโดยทั่วไปจะชักนำให้เข้าสู่กระบวนการคลอดได้เร็วขึ้น ถ้าอยู่ในช่วงที่อายุครรภ์ครบกำหนดแล้ว พวกนี้จะแสดงว่าเริ่มที่จะเข้าสู่กระบวนการคลอด พร้อมที่จะคลอดได้ เมื่อไรก็ตามที่มีน้ำคร่ำเดินออกมา หรือมีน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอดออกมา ต้องมาตรวจดูที่โรงพยาบาลเหมือนกัน เพราะว่าเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเราเข้าใกล้ที่จะเข้าสู่กระบวนการคลอดแล้ว
สำหรับอาการที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรสังเกตอาการนอกจากเจ็บท้อง น้ำเดินแล้ว คือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยทั่วไปคืออาการนำของเรื่องครรภ์เป็นพิษ ถ้าใครมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อดูว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือเปล่า
ส่วนอาการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นมีไข้ ไอธรรมดา พวกนี้ควรจะมาพบแพทย์ทั้งหมด เพราะว่าอาการเหล่านี้สามารถที่จะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดได้เหมือนกัน
หรืออาจจะมีความผิดปกติอะไรร้ายแรงสอดแทรกอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่ผู้หญิงทุกคนมีอาการผิดปกติ ไม่แน่ใจ ควรมาพบแพทย์ ไม่ควรไปซื้อยารับประทานเอง เพราะว่ายาบางอย่างจะมีผลกับทารกในครรภ์ได้
ข้อมูลโดย
อ. นพ.วีรภัทร สมชิต
สาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล