ขี้ลืม เรื่องปกติที่เป็นอยู่บ่อยครั้งแต่หากส่งผลต่อการใช้ชีวิต อาจจะต้องเริ่มกังวลว่ามันเป็นสัญญาณเตือนของการเกิด ภาวะสมองเสื่อม หรือไม่
หน้าแรก
รู้ได้อย่างไรว่า แค่ขี้ลืม หรือมีภาวะสมองเสื่อม ?

รู้ได้อย่างไรว่า แค่ขี้ลืม หรือมีภาวะสมองเสื่อม ?

การ ขี้ลืม เป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะเป็นอยู่บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน แต่เมื่ออาการลืมเริ่มมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงาน เราอาจจะเริ่มกังวลว่ามันเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ในบทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างอาการหลงลืมทั่วไปกับ ภาวะสมองเสื่อม  เพื่อให้เข้าใจและสามารถจัดการกับอาการในแต่ละกรณีได้อย่างเหมาะสม

ความแตกต่างระหว่าง อาการ ขี้ลืม กับ ภาวะสมองเสื่อม

อาการขี้ลืมทั่วไป อาการขี้ลืมทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่และไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  ซึ่งอาการนี้อาจเป็นผลจากการมีสภาวะเครียด วิตกกังวล หรือมีภารกิจยุ่งเหยิงในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องใช้สมาธิและความตั้งใจในการจดจำมากกว่าปกติ อาการขี้ลืมทั่วไปมักเป็นเรื่องของการลืมรายละเอียดเล็ก ๆ ไม่สำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น การลืมสิ่งของว่าวางไว้ที่ไหน การลืมเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่ได้ใช้บ่อย ๆ หรือการลืมการนัดหมายที่ไม่สำคัญ

ภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่มีอาการลืมเป็นมากขึ้นจนมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะพึ่งพิงผู้ดูแลหรือสมาชิกในครอบครัวมากขึ้นจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานของผู้สูงอายุ  ภาวะสมองเสื่อมมีอาการที่พบบ่อย เช่น ลืมชื่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่พบกันเป็นประจำ ลืมข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น การนัดหมาย โดยที่ได้มีการบอกซ้ำหรือจดไว้แล้ว ลืมหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำ โดยการลืมนี้เป็นการลืมแบบกู้ไม่ขึ้น และส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ภาวะสมองเสื่อมมักค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และมักมีอาการที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถเห็นได้ชัดเจน มาดูข้อมูลเพิ่มเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นได้ที่ – อาการแบบไหน ? เป็นภาวะสมองเสื่อม

จุดสังเกตข้อแตกต่างอาการ ขี้ลืม กับ ภาวะสมองเสื่อม

  • ความรุนแรงของอาการ : อาการขี้ลืมทั่วไปมักไม่มีผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ในทางตรงกันข้ามภาวะสมองเสื่อมมักมีอาการลืมที่รุนแรงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
  • ความเป็นมาของอาการ : อาการขี้ลืมทั่วไปมักเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง ในขณะที่ภาวะสมองเสื่อมมักเกิดขึ้นเป็นเวลานานและมีแนวโน้มที่จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • ผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน : อาการขี้ลืมทั่วไปมักไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นตามลำพัง

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมมักมีสาเหตุที่เกิดจากหลายปัจจัยแตกต่างกันไป ดังนี้

  • การเสื่อมของเซลล์ประสาท : การเสื่อมของเซลล์ประสาทจากการที่มีโปรตีนบางชนิดไปสะสมทำให้เซลล์ประสาทนั้น ๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อปัญหาในการทำงานของสมองได้
  • โรคเรื้อรัง : เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง 
  • อายุ : เมื่อร่างกายมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น เซลล์สมองจะมีขบวนการชราภาพเกิดขึ้น ส่งผลให้เซลล์สมองบางส่วนเกิดการตาย และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ 
  • พันธุกรรม : หากมีความผิดปกติของพันธุกรรมบางอย่าง อาจทำให้มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการมีภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมมีกี่ระยะ

ภาวะสมองเสื่อม สามารถแบ่งระยะแบบง่าย ๆ ออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะท้าย โรคสมองเสื่อมมักมีความแตกต่างในระยะความรุนแรงและอาการของแต่ละบุคคล รวมถึงอาจมีอาการเสริมที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาทางอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรรม และ ปัญหาทางจิตเวช  ดังนั้น การดูแลและการรักษาโรคสมองเสื่อมจะต้องปรับตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและระยะของโรคที่เป็น

วิธีการรักษาและการป้องกันภาวะสมองเสื่อม

โดยทั่วไปแล้วภาวะสมองเสื่อมยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดอย่างชัดเจน การรักษาภาวะสมองเสื่อมมักมุ่งเน้นไปที่การลดอาการโดยการใช้ยาบางประเภทที่ใช้ในการควบคุมอาการของภาวะสมองเสื่อมและพยายามชะลอให้อาการสมองเสื่อมแย่ลงช้าที่สุดโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติและนานที่สุด

ภาวะสมองเสื่อมมีวิธีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงและส่งเสริมให้สมองทำงานได้ดียิ่งขึ้นได้ ดังนี้

  1. การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพของสมอง เนื่องจากมีผลดีต่อการเสริมสร้างเนื้อเยื่อสมองและช่วยให้กระบวนการสมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  2. การดูแลสุขภาพทั่วไป : การรักษาโรคที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง 
  3. การฝึกสมองในผู้สูงอายุ : อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำและการประมวลผลข้อมูลของผู้ที่เริ่มมีอาการขี้ลืม หรือเริ่มมีภาวะสมองเสื่อมในระยะต้นได้ 
  4. การดูแลอารมณ์และจิตใจ : การปรับเปลี่ยนการคิดเชิงบวกและการจัดการกับความเครียดอาจช่วยลดการเสี่ยงในการเกิดอาการของภาวะสมองเสื่อม

จะเห็นได้ว่า การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้ค้นพบและทำการรักษาโรคที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นได้ทันที และการดูแลสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ – วิธีป้องกันภาวะสมองเสื่อม

 

ข้อมูลจาก

ผศ. พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส 

สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/

Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV

Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv

บทความที่เกี่ยวข้อง

10-สัญญาณเตือน-ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ-Low-self-esteem
สัญญาณการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) เช่น วิจารณ์ตัวเองเกินไป กลัวการล้มเหลว และไม่มั่นใจในตัวเอง อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์
บทความสุขภาพ
04-12-2024

3

ยาแก้อักเสบVSยาฆ่าเชื้อ เหมือนหรือต่าง
ยาแก้อักเสบช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ส่วนยาฆ่าเชื้อใช้กำจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ ทั้งสองชนิดทำงานต่างกันและใช้ในกรณีที่ต่างกัน
บทความสุขภาพ
01-12-2024

4

โรคฝีดาษลิง ไวรัสอันตรายจากลิงสู่คน
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีอาการไข้ ผื่นตุ่มหนอง และปวดเมื่อย พบมากในพื้นที่ที่มีการสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรง
บทความสุขภาพ
30-11-2024

5

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการ สาเหตุ การป้องกัน
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากพฤติกรรมการกินและปัจจัยทางพันธุกรรม อาการเริ่มต้นไม่ชัดเจน ควรตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง
บทความสุขภาพ
29-11-2024

5