หลายคนเจอปัญหาความอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การควบคุมอาหารและโหมออกกำลังกายเพื่อ ลดน้ำหนัก แต่การโหมออกกำลังกายมากเกินไปจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก ส่งผลให้ปริมาตรเลือดลดลงจนทำให้ ไต ขาดเลือดไปเลี้ยงและสูญเสียหน้าที่การทำงานอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งหน้าที่สำคัญของไต คือ การสร้างปัสสาวะซึ่งช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ และช่วยรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย
ไตวายเฉียบพลันกับไตวายเรื้อรัง ต่างกันอย่างไร ?
ไตวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ไตทำงานลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งเมื่อแพทย์ให้การรักษาได้ทันการทำงานของไตก็จะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นได้ สาเหตุเกิดจากการสูญเสียน้ำของร่างกาย เช่น อาเจียนหรือท้องเสียรุนแรง เสียเลือดมากจากอุบัติเหตุหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร และการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง ในส่วนของไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตเสื่อมลงช้า ๆ อย่างต่อเนื่องหรือมีความผิดปกติของไตเกินกว่า 3 เดือน ซึ่งถ้าเกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะไม่สามารถฟื้นกลับมาทำงานได้เหมือนปกติต้องรับการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางหน้าท้อง และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต สาเหตุส่วนใหญ่ของไตวายเรื้อรังนั้นเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
สัญญาณเตือนของโรคไตวายเฉียบพลัน
- เเขนเเละขาบวม
- ปัสสาวะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวันหรือบางรายอาจไม่มีปัสสาวะออกมาเลย
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน
- รู้สึกหวิว เหนื่อยง่าย หรือมีอาการขาดน้ำ
- อ่อนเพลีย
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลัน
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- มีความผิดปกติที่มีผลต่อไตและอวัยวะอื่น ๆ
- การอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะเนื่องจากภาวะต่าง ๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต นิ่วในไต และมะเร็งบางชนิด
- การไหลย้อนของปัสสาวะกลับเข้าไต
- การอักเสบของไตอย่างต่อเนื่อง
- สารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายลดลงเป็นเวลานาน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลัน
- น้ำตาลในเลือดสูง
- ความดันเลือดสูง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- น้ำหนักเกิน
- พันธุกรรม
- โครงสร้างที่ผิดปกติของไต
- ความชรา
ทำไมเร่ง ลดน้ำหนัก ถึงอันตราย ?
เกิดจากการไม่ดื่มน้ำเพราะกลัวอ้วน บางคนกินยาที่มีส่วนผสมของยาขับปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อยจึงทำให้ขาดน้ำและเข้าใจว่าน้ำหนักลดลง ทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ เมื่อร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ ผลที่เกิดกับร่างกายคือเป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด และความดันเลือดต่ำ
โรคอ้วนและโรคไตสัมพันธ์กันอย่างไร ?
โรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ต้องออกแรงและเคลื่อนไหวร่างกายทำให้เสียเหงื่อมากส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้หากเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บอย่างรุนแรงในขณะออกกำลังกายก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตวายเฉียบพลันได้
ลดน้ำหนัก อย่างไรให้ถูกวิธี ?
- ลดไขมันในร่างกาย ไม่ใช่ลดกล้ามเนื้อ
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่จากผักและผลไม้
- ลดปริมาณอาหารโดยเฉพาะหมวดแป้งและนำ้ตาลหรือเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีพลังงานต่ำ
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด ผัด และอาหารที่มีไขมัน
- ไม่ใช้ยาลดน้ำหนักที่อาจเป็นอันตราย
ดื่มน้ำหลังออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ให้ถูกวิธี
- ควรดื่มน้ำ 500-600 มิลลิลิตร ก่อนออกกำลังกาย 2-3 ชั่วโมง
- ควรดื่มน้ำ 200-300 มิลลิลิตร ก่อนออกกำลังกาย 30 นาที
- ควรดื่มน้ำ 200-300 มิลลิลิตร ระหว่างออกกำลังกายเมื่อรู้สึกกระหายนำ้
- ควรดื่มน้ำ 1-1.5 ลิตร ต่อน้ำหนักตัวที่หายไป 1 กิโลกรัมหลังจากออกกำลังกาย
- ถ้าออกกำลังกายหนักติดต่อเกิน 60 นาทีและเสียเหงื่อมาก ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ทดแทน
วิธีป้องกันการเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อโรคไตวายเฉียบพลัน
- ควบคุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- ควบคุมความดันเลือด ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- พักผ่อนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหมจนเกินไป
- งดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพประจำปี
วิธีรักษาโรคไตวายเฉียบพลัน
- รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้เป็นปกติ
- ปรับขนาดยาตามการทำงานของไตที่ลดลง
- หลีกเลี่ยงการฉีดสารทึบรังสีหรือยาที่มีผลเสียต่อไต
- การรักษาโดยการบำบัดทดแทนไต กรณีที่มีอาการสารน้ำเกินหรือเกลือแร่ผิดปกติมาก
ไตวายเฉียบพลันเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุรวมถึงการออกกำลังกายของคนที่พยายามลดน้ำหนัก ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ควรลดน้ำหนักให้ถูกต้องและถูกวิธี ไม่หักโหมจนเกินไป ดื่มน้ำให้เพียงพอหรือเทียบเท่ากับที่ร่างกายสูญเสียไป
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
สาขาวิชาโรคไต
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล