ปัจจุบันอันตรายจากการกินอาหารของคนเรามีมากขึ้นกว่าเดิม แม้แต่วัตถุดิบทางการเกษตรอย่าง ถั่วลิสง กุ้งแห้ง ข้าวโพด กระเทียม ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นวัตถุดิบธรรมดา มีความปลอดภัย เพราะเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติซึ่งก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่าหากการเก็บรักษาวัตถุดิบเหล่านี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม อาจจะก่อเกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ สารพิษที่ว่าคือสาร “อะฟลาท็อกซิน” สารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง
สารอะฟลาท็อกซินมักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- มันสำปะหลัง
- ผักและผลไม้อบแห้ง
- ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ
- มะพร้าวแห้ง
- หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา
ผู้ที่ได้รับอะฟลาท็อกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือ
กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับ และอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจ
การป้องกันสารอะฟลาท็อกซินทำได้โดย
- เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด
- ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
- ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
- นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัดๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลง
ข้อมูลจาก
อ. นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์
อายุรศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล