ปัญหาเรื่องลำไส้อย่างอาการ ท้องผูก หลายคนคงนึกถึงยาสามัญประจำบ้านอย่าง ยาระบาย เพราะสิ่งนี้เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้การขับถ่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะมีข้อสงสัยว่ารับประทานอย่างไรไม่ให้เกิดอันตรายกับร่างกาย
ยาระบาย กับอาการท้องผูก
ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริง เนื่องจากยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายที่ไม่สะดวกกลับมาเป็นปกติ โดยอาการ ท้องผูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี ความผิดปกติของการทำงานในลำไส้ ผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิด หรือแม้แต่การเกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้นหากกำลังเผชิญกับอาการท้องผูก ยาระบายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทุเลาอาการท้องผูกได้เบื้องต้นหรืออาจช่วยให้อาการท้องผูกหายได้
อาการแบบไหนที่ควรใช้ยาระบาย ?
ยาระบาย แก้ท้องผูก หรือถ่ายไม่ออก ควรจะใช้เมื่อมีอาการท้องผูกเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ให้สังเกตอาการ ดังนี้
- รู้สึกว่าขับถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระนานเกินไป
- อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ถ่ายอุจจาระได้ไม่สุดในทุกครั้ง
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในทวารหนัก
หากพบอาการเหล่านี้สามารถใช้ยาระบายได้ เพราะถ้าปล่อยไว้นาน อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น เมื่อเกิดการสะสมของเสียในร่างกายจะทำให้ระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติ หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายอย่างริดสีดวงทวาร
ยาระบายมีแบบไหนบ้าง แตกต่างกันอย่างไร ?
ยาระบายมีหลากหลายกลุ่ม โดยมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ดังนี้
- ยาระบายที่ช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ไฟเบอร์ (fiber) การรับประทานในกลุ่มนี้คล้ายกับการรับประทานผักและผลไม้ที่มีเส้นกากใยอาหาร เหมาะกับคนที่ไม่ชอบรับประทานผัก สามารถใช้รับประทานได้ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มยาระบายที่มีการรับประทานมากที่สุด
- ยาระบายที่เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่ สำหรับการทำงานของกลุ่มนี้คือการดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ คล้ายกับเป็นสารหล่อลื่น ช่วยให้การขับถ่ายให้ง่ายกว่าเดิม
- ยาระบายที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เมื่อรับประทานเข้าไปลำไส้จะมีการบีบตัวต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการมวนท้องและรู้สึกอยากขับถ่าย
- ยาระบายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ออกฤทธิ์คล้ายกับยาระบายในกลุ่มที่สอง แต่จะเป็นการดูดซึมน้ำเข้าไปในอุจจาระโดยตรง ทำให้อุจจาระนิ่ม สามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
- ยาระบายชนิดน้ำมันหล่อลื่น เมื่อรับประทานเข้าไปจะไม่มีการดูดซึม แต่จะลงไปบริเวณลำไส้ใหญ่โดยตรง ช่วยให้อุจจาระลื่นและขับถ่ายออกมาได้ง่าย
ยาระบาย ออกฤทธิ์กี่ชั่วโมง ?
ยาระบาย ออกฤทธิ์เร็วสุดในระยะเวลาประมาณ 2 ถึง 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มยาที่เลือกรับประทานเข้าไป หากต้องการผลที่รวดเร็วให้สังเกตอาการของตัวเองรวมถึงประเมินว่าเหมาะกับการรับประทานยาในกลุ่มไหน เพื่อเป็นส่วนช่วยให้เห็นผลได้มากที่สุด เนื่องจากสภาพร่างกายและอาการของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป
ผลเสียของการรับประทานยาระบายบ่อยเกินไป
หากรับประทานยาในปริมาณที่มากหรือบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ โดยผลเสียและผลข้างเคียงต่าง ๆ จะแบ่งตามลักษณะประเภทของกลุ่มยาระบายในแต่ละชนิด ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ช่วยเพิ่มกากใยในอาหาร :
หากดื่มน้ำน้อยจะทำให้มีอาการท้องอืดและแน่นท้องตามมา ดังนั้นหากรับประทานยาในกลุ่มนี้แล้ว ควรดื่มน้ำตามในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวที่อาจเกิดตามมา
กลุ่มที่ 2 เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่ :
จะมีผลข้างเคียงกับคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจ ควรรับประทานในปริมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
กลุ่มที่ 3 กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ :
กลุ่มประเภทยามะขามแขก ซึ่งเป็นยาระบายสมุนไพร หากรับประทานบ่อยจนเกินไปจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงจนเกิดเป็นอาการลำไส้ขี้เกียจ ดังนั้นไม่ควรที่จะรับประทานต่อเนื่องอย่างเด็ดขาด
กลุ่มที่ 4 ทำให้อุจจาระนิ่ม และกลุ่มที่ 5 ชนิดน้ำมันหล่อลื่น :
จะมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มที่สองคือไม่เหมาะกับคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค ควรระมัดระวังหากจะรับประทานในแต่ละครั้ง
รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> กินยาระบายบ่อย ๆ เป็นอันตรายหรือไม่ ?
กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรใช้ ยาระบาย
การรับประทานยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน ควรหาสาเหตุหลักของการเกิดอย่างละเอียด ก่อนที่จะซื้อยาระบายมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ลำไส้ส่วนก่อนถึงจุดที่มีการอุดตันเกิดการพองตัวขึ้นและสามารถแตกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
วิธีการใช้ยาระบายที่ถูกต้องและปลอดภัย
การรับประทานยาควรรับประทานเมื่อจำเป็นเท่านั้นให้รับประทานเมื่อไม่มีการขับถ่ายเป็นเวลานาน หากสามารถขับถ่ายได้ปกติก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานหรือทางที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการท้องผูกตั้งแต่แรก เช่น หากเป็นคนที่ดื่มน้ำน้อย ให้ดื่มน้ำให้มากขึ้นในแต่ละวัน ขับถ่ายให้เป็นเวลาไม่ควรอั้นการขับถ่ายเป็นเวลานาน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก และหากมีอาการท้องผูกในระยะเวลาที่นานเกินไป ใช้ยารักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
ข้อมูลจาก
ผศ. นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์
สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel