มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบเป็นอันดับ 4 ของผู้ชายไทย และยังพบว่ามีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว “เพิ่มขึ้นทุกปี” จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยง โดยมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ที่ร้อยละ 16.72 ส่วนผู้ชายที่มีอายุประมาณ 60 ปี มีโอกาสตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 50-60 โดยความเสี่ยงของโรคเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และอาจสูงถึงร้อยละ 80 ในผู้ชายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
จากการศึกษาพบว่าประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าประชากรในแถบยุโรป แอฟริกัน และอเมริกัน แต่ที่น่าสนใจคือในเมืองใหญ่ของทวีปเอเชียกลับพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ฮ่องกง เป็นต้น
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร
- อายุที่เพิ่มสูงขึ้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น พบมากในผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี พบผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้น้อยกว่า
- จากการศึกษารายงานพบว่าคนที่ทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์มากนั้นมีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากสูง จากการสำรวจประชากรประเทศญี่ปุ่นที่ทานอาหารจำพวกถั่ว ปลา จะพบมะเร็งต่อมลูกหมากในอัตราที่ต่ำ แต่เมื่อศึกษาประชากรญี่ปุ่นที่มีการอพยพไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือแอฟริกัน กลับป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงเทียบเท่ากับชาวยุโรปและแอฟริกัน ทั้งที่แต่งงานกับชาวญี่ปุ่นด้วยกัน
- เปรียบเทียบระหว่างประชากรที่ได้รับแสงแดดตลอดปีกับประชากรทั่วโลก พบว่าประชากรที่ได้รับแสงแดดตลอดปีมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำกว่า จึงมีการตั้งสมมติฐานว่าอาจเกี่ยวกับวิตามินดีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
- พันธุกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แน่นอนของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าหากในครอบครัวใดมีพ่อและพี่ชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก น้องชายในครอบครัวนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคด้วย
มะเร็งต่อมลูกหมากและวิธีสังเกตตัวเอง
- อาการทางปัสสาวะ
- ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้
- ปัสสาวะต้องเบ่งนาน และปัสสาวะขัด
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ปัสสาวะอ่อนแรง
- อาจมีอาการปวด แสบ ระหว่างถ่ายปัสสาวะ
- มีปัญหาต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- มีเลือดปนในปัสสาวะหรือปนกับอสุจิ
- อาจพบได้ว่ามีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา
ทั้งนี้อาการที่กล่าวมาเป็นเพียงวิธีการสังเกตตนเองเบื้องต้นเท่านั้น ไม่จำเป็นเสมอไปว่าถ้าหากมีอาการดังกล่าวจะต้องป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากบางอาการ เช่น อาการทางปัสสาวะที่ผิดปกติ อาจแสดงถึงอาการต่อมลูกหมากโตธรรมดาเท่านั้น แต่ถ้าหากมีอาการตามที่กล่าวมาควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด เพราะอาการเบื้องต้นของมะเร็งต่อมลูกหมากมักมีอาการของต่อมลูกหมากโตนำมาก่อน
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
- คลำก้นเพื่อตรวจดูลักษณะพื้นผิวของต่อมลูกหมาก หากขรุขระหรือแข็งก็อาจเป็นมะเร็งได้
- ตรวจดูค่า PSA ถ้าหากพบว่าสูงเกิน 4 มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่ค่า PSA ที่สูงก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะเป็นมะเร็งเสมอไป เพราะอาการของต่อมลูกหมากโตธรรมดาก็ส่งผลให้ค่า PSA สูงได้เช่นกัน รวมถึงการติดเชื้อหรือเซลล์แตกนั้นส่งผลให้ค่า PSA สูงได้ด้วย ดังนั้นหากพบความผิดปกติที่ค่า PSA แพทย์จะทำการติดตามผลต่อไป
มะเร็งต่อมลูกหมากและปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
การแข็งตัวของอวัยวะเพศที่มีปัญหามีความสัมพันธ์ต่อมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศนั้นต้องมีอาการของมะเร็งค่อนข้างมากจนไปกินเส้นประสาทบริเวณองคชาตทำให้การแข็งตัวลดลง
ทั้งนี้ที่พบบ่อยกว่าในเรื่องของการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่มีปัญหามักเกี่ยวข้องกับอาการของ โรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไขมันอุดตันในเส้นเลือดมากกว่า พบว่าผู้ป่วยบางรายที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจไม่มีอาการแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบเลย แต่กลับมีความผิดปกติในเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศแทน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็นได้ โดยทั่วไปพบว่าการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่มีปัญหามักมีผลมาจากการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า อย่างเช่นการผ่าตัด ฉายแสง หรือฝังแร่ ที่อาจทำให้เส้นประสาทที่เลี้ยงองคชาตถูกตัดออกไป จึงทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการแข็งตัว
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.วิสูตร์ คงเจริญสมบัติ
และ นพ.เปรมสันต์ สังฆ์คุ้ม
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล