มะเร็งตับ อีกหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อย
มะเร็งตับ เป็นอีกหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อย โดยพบเป็นอันดับ 1 ในเพศชายที่ป่วยเป็นมะเร็ง และพบเป็นอันดับ 4 ของทั้งเพศชายและเพศหญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง มะเร็งตับเป็นโรคร้ายที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการรักษาหลายวิธี ที่สำคัญคือการเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีตรวจสุขภาพและอื่น ๆ หากรู้ตัวว่าตนเองอยู่ในความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับ มีอาการอย่างไร?
โรคมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการแสดง โดยจะมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นขนาดเล็กประมาณ 2-3 เซนติเมตร เป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยอาจรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับเมื่อตรวจสุขภาพ ส่วนอาการแสดงของโรคมะเร็งตับนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งมีขนาด 10 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยาก
การรักษาโรคมะเร็งตับ
การรักษาโรคมะเร็งตับมีหลายวิธีด้วยกัน เลือกใช้ตามอาการของคนไข้ หากป่วยระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าอาการที่เป็นมากกว่าระยะเริ่มต้นอาจใช้การรักษาเฉพาะที่ ด้วยวิธีฉีดยาเข้าเส้นเลือดเพื่อให้เซลล์มะเร็งยุบลง หรือถ้าหากอยู่ในระยะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยามุ่งเป้า ซึ่งเป็นตัวยาในปัจจุบันที่ใช้รักษามะเร็งนอกเหนือจากเคมีบำบัดซึ่งมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า
วิธีการรักษาโรคมะเร็งตับที่หายขาด
มะเร็งตับเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ใช้ได้กับผู้ป่วยระยะเริ่มต้น มีทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่
- ผ่าตัดรักษาตับ
- ผ่าตัดเปลี่ยนตับ
- ใช้ความร้อนฆ่าเซลล์มะเร็งที่ตับ
ผลการรักษาด้วยการผ่าตัด หากสามารถผ่าตัดชิ้นเนื้อมะเร็งออกได้ทั้งหมด สามารถหายขาดได้ แต่ที่ต้องระวังคือการกลับมาเป็นซ้ำ จึงต้องมีการติดตามอาการของคนไข้อย่างต่อเนื่อง
ข้อจำกัดในการรักษามะเร็งตับ
- กายวิภาคตับค่อนข้างซับซ้อน การรักษามะเร็งตับจึงรักษาได้ยาก
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดมากพอสมควร ที่ผ่านมามีอัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดรักษามะเร็งตับร้อยละ 3
- ผลการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตัวคนไข้ ภาวะการทำงานของตับ หากร่างกายคนไข้ไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย หรือถ้าหากภาวะการทำงานของตับเสื่อมประสิทธิภาพจะมีความเสี่ยงต่อภาวะไตวายจากการผ่าตัด
- สามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเริ่มต้น หากเป็นมากจะรักษาได้ยาก
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับสามารถทำได้ในคนไข้ที่มีอาการไม่มาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
- ในผู้ป่วยที่มีภาวะตัวเหลือง ขาบวม ท้องโต แสดงออกถึงภาวะการทำงานของตับที่เสื่อมประสิทธิภาพ การรักษาด้วยการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด การฉายแสง หรือการได้รับยาที่รุนแรง อาจเป็นอันตราย
การรักษามะเร็งตับด้วยวิธีแพทย์ทางเลือก
ปัจจุบันพบว่ามีการรักษามะเร็งตับหลายวิธีด้วยกัน นอกจากแพทย์แผนปัจจุบันยังมีแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยเลือกรักษา แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าแพทย์ทางเลือกจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแพทย์แผนปัจจุบัน จึงแนะนำว่าถ้าหากผู้ป่วยยังมีอาการไม่มาก มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เพื่อลดอัตราการเสียโอกาสในการรักษาให้หายขาด เพราะถ้าหากเลือกรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกก่อนแล้วไม่ได้ผล อาจทำให้อาการป่วยลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน
การรักษามะเร็งตับด้วยแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับแพทย์ทางเลือกเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำ เพราะทำให้การประเมินผลการรักษาเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่อาการป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และการได้รับยารักษาโรคหลายขนานพร้อมกันอาจทำให้ยาเสริมฤทธิ์กันมากเกินไป หรืออาจทำให้ยาหักล้างกันได้ รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้น
กลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ
- ผู้ที่ดื่มสุรามาก ๆ
- ผู้ใช้ยาบางชนิด ที่เสี่ยงต่อโรคตับ
- ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้ที่มีภาวะตับแข็ง
- ผู้ที่มีภาวะไขมันเกาะตับ
การสังเกตตัวเองเพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับ
หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อการคัดแยกโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น นำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้
ข้อมูลจาก
อ. นพ.พงศธร ตั้งทวี สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี ภาควิชาศัลยศาสตร์
และ ผศ. นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าวิชาสาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล