อัมพาท
หน้าแรก
ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง
ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

ปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตคือ

การที่ต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้คนไข้กลุ่มนี้มีความต้องการที่จะรักษาหรือฟื้นฟูด้วยวิธีต่างๆ สู่การเยียวยาให้ร่างกายมีสภาพที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น สำหรับวิธีการฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตนั้นยังเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อการดูแลคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ความหมายของการฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต

คือการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือฉับพลัน เพื่อลดอาการความพิการ หรือป้องกันความพิการให้ได้มากที่สุด เพื่อการใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการฟื้นฟูได้ ได้แก่ ผู้ป่วยระบบประสาท ระบบสมอง กล้ามเนื้อและกระดูกรวมไปถึงหัวใจและปอด

สำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจัดเป็นอาการป่วยทางสมอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ทำให้อ่อนแรงบางส่วนหรือขยับร่างกายไม่ได้เลยทั้งร่างกาย นอกเหนือจากการขยับร่างกายก็อาจมีในเรื่องของอาการชา พูดจาไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ หรือมีปัญหาเรื่องการกลืน รวมถึงการหมดสติ

สำหรับการวินิจฉัยโรคว่าคนไข้อ่อนแรงจากอัมพฤกษ์อัมพาตหรือไม่ หรือเป็นที่กล้ามเนื้อและกระดูก

แพทย์จะทำการซักประวัติและอาจมีการเอ็กซเรย์สมองร่วมด้วย หากพบว่าเป็นโรคของอัมพฤกษ์อัมพาต คนไข้จะถูกส่งให้ทางอายุรศาสตร์ดูแลอาการคนไข้ให้สภาพคงที่เสียก่อน จึงจะถูกส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูเพื่อกายภาพบำบัดตามลำดับ

โดยปกติแล้วหากคนไข้มีอาการป่วยจะต้องส่งแพทย์โดยเร็วที่สุดภายใน 3-6 ชั่วโมง ยิ่งส่งแพทย์ได้เร็วเท่าไรยิ่งมีโอกาสสูงมากเท่านั้นในการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น เช่น การให้ยาละลายลิ่มเลือด ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากส่งตัวคนไข้ช้าจะต้องได้รับการรักษาจากแผนกอายุรกรรมก่อนเพื่อให้อาการคนไข้คงที่ จากนั้นจึงจะถูกส่งไปฟื้นฟูสภาพ ด้วยวิธีการฝึกการขยับมือแขน ฝึกการเดิน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด

การฝึกฝนให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต

ส่วนของแขน จะฝึกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและทิศทางของแขน โดยจะเน้นในเรื่องของการเหยียดมากที่สุด เพราะคนไข้มักจะมีปัญหาในเรื่องของการเหยียด ส่วนการเดินจะฝึกในท่าเดินที่ถูกต้อง และมีการเน้นในเรื่องของจำนวนครั้ง ยิ่งฝึกมากเท่าไรก็จะยิ่งดีขึ้น บางครั้งอาจมีการใช้เครื่องช่วยในการบำบัดด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักกายภาพ โดยวิธีการฝึกจะมีความหลากหลายอย่างมาก ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นและระดับความรุนแรง

ระยะเวลาในการฟื้นฟูที่เหมาะสม

นับตั้งแต่เริ่มป่วยถึง 3-6 เดือน เป็นระยะที่ดีที่สุดในการฟื้นฟู โดยใน 3 เดือนแรกจะมีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และชะลอช้าลงจนถึง 6 เดือน หลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป ก็ยังสามารถพัฒนาได้อีก แต่ช้าลง อาจต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มเติมมากขึ้น สำหรับการรักษาเบื้องต้นสำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคแทรกซ้อน หากป้องกันได้ไม่ดีจะทำให้การกายภาพมีอุปสรรค เช่น  มือควรขยับได้แล้วแต่มีข้อติดเสียก่อน  อาจทำให้ไม่สามารถขยับได้ตามเวลาที่เหมาะสม สำหรับการฟื้นฟูมักทำเป็นลำดับขั้นตอนอย่างการฝึกเดิน ถ้าหากคนไข้ป่วยในระดับที่ไม่สามารถนั่งได้ ต้องค่อยๆ ฝึกให้คนไข้หัดนั่งได้เสียก่อน แล้วค่อยฝึกให้คนไข้ลุกได้อย่างแข็งแรงจนกระทั่งสามารถนำไปสู่การฝึกเดินในที่สุด

ตัวอย่างการกายภาพด้วยการใช้เครื่องในการฝึกเดิน คนไข้จะมีหน้าที่เกร็งเข่าและต้องพยายามทรงตัวให้ไปตามเครื่อง เมื่อแข็งแรงขึ้นก็จะย้ายไปอีกเครื่องหนึ่งที่เป็นการเดินเหมือนลู่วิ่ง และมีตัวช่วยพยุงลำตัวไว้ เท้าวางอยู่บนที่วางเท้า ซึ่งมีหน้าที่หมุนเหมือนการเดินปกติ คนไข้ต้องทรงตัวร่วมกันกับเกร็งเข่า เมื่อฝึกบ่อยๆ จะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น

สำหรับการดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเมื่ออยู่บ้าน

ญาติผู้ป่วยอาจต้องคอยดูแลในเรื่องของการนอนไม่ให้ทับเส้น และต้องคอยพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยเป็นระยะๆ แต่ถ้าผู้ป่วยเริ่มตะแคงตัวเองได้แล้ว ก็ควรตะแคงด้วยตนเอง

สำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตผลลัพธ์ที่ได้คือ

ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถช่วยตนเองได้มากขึ้นเท่านั้น อาจไม่ถึงขั้นกลับมาเป็นปกติ ส่วนการป้องกันการเกิดโรค เนื่องจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาตมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพศ โรคประจำตัว การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันคือควรควบคุมในเรื่องของปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น ดูแลในเรื่องของโรคประจำตัวอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลงได้

 

ข้อมูลจาก
อ.ดร. นพ.ปรเมษฐ์ ฉายารัตนศิลป์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “รายการพบหมอรามา | ลัดคิวหมอ อัมพฤกษ์” ได้ที่นี่