พฤติกรรมความรุนแรง
หน้าแรก
พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่?
พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่?

พฤติกรรมความรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือวาจา การทำร้ายร่างกาย การด่าทอเสียดสี ล้วนนำมาซึ่งผลเสียหลายอย่าง ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น พฤติกรรมความรุนแรงยังก่อให้เกิดความอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อีกด้วย หลายคนยังสงสัยอยู่ว่าพฤติกรรมนี้เรียกว่าอาการป่วยทางจิตเวชหรือไม่ สามารถรักษาได้หรือไม่ได้อย่างไร คือที่มาของการนำเสนอข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชโดยเฉพาะ

ทำความเข้าใจ พฤติกรรมความรุนแรง และอาการทางจิตเวช

พฤติกรรมความรุนแรง แสดงออกถึงความก้าวร้าว เช่น ด่าทอเสียดสี ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการก่ออาชญากรรม อาจไม่ใช่อาการทางจิตเวชเสมอไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพฤติกรรมส่วนบุคคล ต้องพิจารณาหลายด้านประกอบกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพฤติกรรมความรุนแรงบางประเภทก็มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตเวชได้

พฤติกรรมความรุนแรง มีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

ภาวะทางอารมณ์

เกิดจากการถูกกดดัน หรือถูกรบกวนทางอารมณ์ ทำให้เกิดภาวะโกรธ หงุดหงิด บางรายอาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาได้ ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดจากสาเหตุนี้มักมีเป็นครั้งคราวไม่ใช่ทุกครั้ง และการแสดงออกไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้อื่น จึงไม่เป็นอันตราย สามารถเกิดได้กับคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรค

โรคทางจิตเวช

ผู้ป่วยทางจิตเวชบางรายอาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาได้ในบางกรณี อาจมีสาเหตุมาจากการขาดยา ทำให้มีอาการหวาดระแวง ประสาทหลอน หรือในบางรายมีปัญหาทางด้านอารมณ์บางอย่าง เช่น อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า หากมีอาการมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ รวมถึงโรคสมาธิสั้น ที่อาจทำให้หงุดหงิด และยับยั้งชั่งใจได้ยาก จึงแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมความรุนแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคจิตเวชก็ไม่ได้ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมความรุนแรงเสมอไป

โรคทางกาย

การแสดงพฤติกรรมความรุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะทางร่างกาย ยกตัวอย่าง ผู้ใช้สารเสพติด ได้รับสารที่ไปกระตุ้นอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคทางจิตเวช เช่น ประสาทหลอน ทำให้มีพฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นได้ หรืออาจเกิดจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคทางระบบประสาท ลมชักบางชนิด ที่ทำให้มีอาการพฤติกรรมความรุนแรง

ครอบครัวส่งผลต่อพฤติกรรมรุนแรงได้หรือไม่

การเติบโตในครอบครัวย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ และถ้าหากเติบโตในครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมักใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ เด็กที่เติบโตในครอบครัวนั้นอาจมีพฤติกรรมความรุนแรงเช่นกัน เด็กกลุ่มนี้อาจเลือกใช้พฤติกรรมความรุนแรงในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เลือกใช้กำลังแก้ไขปัญหา แต่ก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเด็กบางคนที่เติบโตในครอบครัวที่มีพฤติกรรมความรุนแรง ก็อาจหลีกเลี่ยงการใช้พฤติกรรมนี้

การแสดงออกของพฤติกรรมความรุนแรง

  1. การใช้วาจาที่รุนแรง หยาบคาย ด่าทอ เสียดสี รวมถึงการเขียนแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เพื่อทำให้อีกฝ่ายเกิดความทุกข์ใจ
  2. การใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญหรือกดดัน ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดันทางจิตใจ
  3. การใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต

พฤติกรรมความรุนแรง จะเกิดขึ้นกับใคร

  1. สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย วัยรุ่นอาจมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความอยากลองทำอะไรเสี่ยง ๆ หรืออยากเป็นตัวของตัวเอง และมีการควบคุมหรือยับยั้งชั่งใจต่ำ
  2. กลุ่มคนที่มีความกดดันทางจิตใจบางอย่าง มักสะท้อนออกมาว่า ณ เวลานั้นมีความกดดันเกิดขึ้น และอยากต่อสู้หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความอันตราย เหมือนเป็นการปกป้องตัวเอง
  3. กลุ่มคนที่เป็นโรคหรือภาวะบางอย่าง ทำให้สูญเสียการควบคุม

หากไม่ได้รับการรักษาพฤติกรรมความรุนแรง จะเป็นอย่างไร

  1. ผลเสียด้านร่างกาย มีอันตรายต่อการใช้ชีวิต เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่น
  2. ผลเสียด้านสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ อาจมีความกดดันเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งมากขึ้น รวมถึงตัวโรคที่ไม่ได้รับการรักษา
  3. ผลเสียด้านกฎหมาย อาจทำให้กลายเป็นคนที่มีคดีติดตัว อันเกิดจากการกระทำที่รุนแรงของตนเอง
  4. ผลเสียด้านสังคม คือสังคมไม่ยอมรับหรือเกลียดชัง

การรักษาพฤติกรรมความรุนแรง

วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ก้าวร้าวรุนแรง ทั้งทางชีวภาพ ทางด้านจิตใจ และทางด้านสังคม จากนั้นประเมินความรุนแรงของอาการ ว่ามีการทำร้ายคนอื่นหรือไม่ บางรายพบว่าพันธุกรรมมีส่วนแต่ไม่เสมอไปหรือบางรายมีความกดดัน ความขัดข้องใจแล้วจัดการไม่เป็น ทำให้แสดงความก้าวร้าว นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายมีการเลียนแบบจากสื่อ เป็นต้น จากนั้นทำการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิด

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ.กานต์ จำรูญโรจน์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “พฤติกรรมชอบทำร้ายหรือก่อพฤติกรรมรุนแรงต่อผู้อื่น! : Rama Square ช่วง Daily expert” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8

กระดูก โรคกระดูกพรุน
กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย เป็นอาการของ โรคกระดูกพรุน ที่หากปล่อยไว้นานอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
บทความสุขภาพ
14-03-2024

12