คนที่รักตัวเองอยากจะมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น โดยเฉพาะสาวๆ ก็มักจะหาอะไรที่มีประโยชน์ให้ตัวเองได้รับประทาน โดยเฉพาะเครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้ ที่คาดว่า ดื่มแล้วผิวพรรณจะสวยเปล่งปลั่งส่งผลดีต่อสุขภาพ วันนี้เรามีข้อมูลของน้ำผลไม้ดังกล่าวนี้มาฝากกัน
น้ำผลไม้ที่คิดว่า ดื่มแล้วจะมีผิวพรรณที่สดสวยเรื่องนี้ทางการแพทย์ยังไม่มีงานวิจัยรับรอง ส่วนความเข้าใจที่ว่า ดื่มน้ำผลไม้แล้วร่างกายจะได้ประโยชน์ งานวิจัยทางการแพทย์ก็ยังยืนยันอีกว่า ในภาวะของคนที่มีร่างกายปกติ เน้นคำว่า ปกติ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า การดื่มน้ำผลไม้แล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
แต่ส่วนข้อมูลที่งานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันนั้นก็คือ น้ำผลไม้จะส่งผลดีต่อคนป่วยที่ขาดวิตามิน เช่น คนป่วยเป็นโรคลักปิด ลักเปิด เป็นต้น
คุณหมอฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก ศูนย์หัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า นอกจากน้ำผลไม้จะให้ประโยชน์กับคนป่วยที่เป็นโรคขาดวิตามินแล้ว คนสูงอายุ ที่ไม่มีฟันที่จะเคี้ยวอาหาร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำผลไม้สด แต่หมอขอแนะ ให้เป็นผลไม้สดปั่นจนเป็นน้ำจะดีกว่า เพราะร่างกายจะได้กากใยอาหารด้วย
ประการสำคัญ ต้องให้ผู้สูงอายุทานในระดับที่พอดี ส่วนความเชื่อที่ว่า น้ำผลไม้ ยิ่งดื่มมากยิ่งได้ประโยชน์นั้น เรื่องนี้คุณหมอชี้แจงว่า ในชีวิตประจำวัน หากได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาด ร่างกายก็ได้รับสารอาหาร ในจำนวนที่เพียงพอแล้วแทบไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำผลไม้เพิ่มเลย ทั้งนี้ยังย้ำอีกว่า ร่างกายต้องการสารอาหารในระดับพอดี อย่าไปเชื่อว่า ยิ่งได้รับมากยิ่งดี
ยกตัวอย่างคนป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ที่มาพบหมออย่างสม่ำเสมอ แต่วันร้ายคืนร้ายก็ถูกหามมาส่งที่โรงพยาบาล เข้าห้องไอซียูทันที สอบถามญาติก็รู้ว่า ก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาล คนไข้ดื่มน้ำผลไม้ปั่นไป 2 แก้ว จากการดื่มน้ำผลไม้ 2 แก้วนี้เอง จึงส่งผลให้โปแตสเซียมในเลือดขึ้นสูง หัวใจจึงเต้นผิดจังหวะ แต่โชคดีที่คนไข้มาถึงโรงพยาบาลได้ ทันเวลา ไม่เช่นนั้นโอกาสคงรอดน้อยเต็มที
กรณีตัวอย่างของคนไข้รายนี้ ชัดเจนว่า ร่างกายต้องการสารอาหารในระดับที่พอดี ถ้าได้รับมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหา ในภาวะคนที่ไม่ปกติ เช่น ผู้ที่ ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง การบริโภคน้ำผลไม้มากเกินไปก็อาจจะมีอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ การบริโภคน้ำผลไม้มาก ก็อาจส่งผลให้คนปกติกลายเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
ข้อมูลจาก
นายแพทย์ ฆนัท ครุธกูล
ศูนย์หัวใจ หลอดเลือดและเมแทบอลิซึม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล