เป็นประเด็นกันอีกครั้งสำหรับโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ “ไบโพลาร์” หลายคนต่างตั้งข้อสงสัยว่าโรคนี้มันคืออะไรกันแน่ วันนี้เรานำมาฝากกัน
โรคไบโพลาร์ หรือ Bipolar Disorder คือ
โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
ลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมีสองแบบ
- แบบแรก มีลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมแบบซึมเศร้า
- แบบที่สอง มีลักษณะคึกคัก พลุ่งพล่าน ซึ่งเรียกว่า เมเนีย (mania) โดยสามารถอธิบายได้จากภาพกราฟอารมณ์จากการตรวจของแพทย์ ซึ่งจะแสดงการเปลี่ยนแปลง ของอารมณ์เป็นช่วงๆ คือ ช่วงซึมเศร้าแล้วตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา หรือบางคนอาจเริ่มด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบซึมเศร้า-ปกติ-ซึมเศร้า-เมเนีย สลับกันไป
สาเหตุของโรคไม่ได้เกิดจากผู้ป่วยมีจิตใจอ่อนแอหรือคิดมาก แต่เกิดจากความผิดปกติทางสมอง
ผู้ป่วยจะมีการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในสมองและสารเคมีในสมองแปรปรวนไป ผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์มักมีประวัติญาติเป็นโรคทางอารมณ์ ทำให้บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปถึง 8 เท่า
สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรค หากพบเหตุกดดันทางจิตใจ เช่น
ตกงาน ญาติเสียชีวิตหรือมีการเสพยาต่างๆ ก็มีแนวโน้มไปกระตุ้นให้แสดงอาการออกมา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนก็เป็นโรคนี้โดยไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ เช่นเดียวกับโรคความดันหรือโรคเบาหวาน ที่บางครั้งก็เกิดจากกรรมพันธุ์แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ ทางการแพทย์จึงไม่ถือว่าโรคนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ได้รับรู้ถึงการเกิดโรคไบโพลาร์อย่างคร่าวๆ คงจะพอมีแนวทางการสังเกต เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวได้ไม่ยาก อย่าลืมติดตามอาการของโรคนี้ในศุกร์สุขภาพสัปดาห์หน้ากันนะครับ
ข้อมูลจาก
ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล