บทความนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจจากผู้ชมทางบ้านที่โทรศัพท์เข้ามาถามคุณหมอในรายการ “พบหมอรามา ช่วงลัดคิวหมอ” กับเรื่องราวของ “อาหารตามสั่ง” อาหารประจำวันที่เราคุ้นเคยกันดีและทานอยู่ทุกวัน เรามีวิธีเลือกทานอย่างไรให้ไกลจากโรคไต โรคเบาหวาน ที่ดูแล้วปัจจุบันผู้คนน่าจะเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้กันได้ง่ายขึ้น
มาฟังเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ รวมถึงคำแนะนำดีดีจาก ผศ.นพ. เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กันเลย
คุณผู้ชมทางบ้าน: อยากถามคุณหมอครับ ทุกวันนี้โรคไตและโรคเบาหวานเป็นกันง่ายมากขึ้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากอาหารที่เราทานในแต่ละวัน อย่างข้าวผัดกระเพราะ 1 จาน ก็มีรสชาติเค็มพอสมควร เรากินทุกวันๆ ก็กลัวที่จะเป็นโรคไต ชาเย็น 1 แก้ว ก็หวานเหลือเกิน เบาหวานจะถามหาไหม แบบนี้เราควรเลือกทานอาหารอย่างไรดี ให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้ดีครับ ในเมื่อเราจะหลีกเลี่ยงไม่ทาน ก็ดูจะไม่ได้ ?
คุณหมอ: มีปัญหาเหมือนผม เป๊ะ!…เลยครับ การที่เราจะเลือกทานไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม หรือไม่ใส่กล่องโฟม มันก็ดูเป็นไปได้ยากในชีวิตประจำวันเรา ผมเข้าใจดีเลย ผมเลยอยากจะขอแนะนำว่า
- ตัวเราเองพยายาม “อย่า” ปรุงรสชาติอาหารให้จัด เช่น การเติมพริกน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู เพิ่มเข้าไปในอาหาร
- กระซิบบอกพ่อครัวแม่ครัวว่า ลดเครื่องปรุงลงหน่อยนะ ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่น้ำปลาเยอะ ลดน้ำตาลลง แต่หากเราสังเกตว่า พ่อครัวแม่ครัว เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด รำคาญเราละ ง่ายๆ เลยเราก็ควรเปลี่ยนร้านครับ หาร้านที่ใช่สำหรับเราแล้วก็ยึดเป็นร้านหลักในใจ มีสัก 2-3 ร้านเพียงเท่านี้เราก็ฝากท้องไว้ได้แล้ว เพราะปัจจุบันผมเข้าใจดีเลยว่า เราเลือกทานไม่ได้จริงๆ หากจะทำอาหารมาทานเองทุกวันก็ไม่ไหวใช่ไหมครับ
คุณผู้ชมทางบ้าน: แล้วการทานอาหารตามสั่งทั่วๆ ไป แบบนี้ 3 มื้อในแต่ละวัน ปกติแล้วร่างกายรับไหวอยู่แล้วไหมครับ หรือเราจำเป็นต้องลดพวกเครื่องปรุงต่างๆ อยู่ดี ?
คุณหมอ: จริงๆ แล้ว ถ้าเกิดว่าเราช่วยร่างกายสักนิดนึงนะครับ แบบว่ามื้อไหนที่เราคิดว่า ทานหวานมากเกินไป ทานเค็มมากเกินไป เราสามารถช่วยร่างกายได้โดยการ “ทานน้ำเยอะหน่อย” เพื่อที่เราจะได้ปัสสาวะ ตรงนี้จะช่วยให้ร่างกายของเราทำงานง่ายขึ้น จากเค็มเกินไปก็กลายเป็นไม่เค็มมากเท่าไหร่นัก
แต่ใน 3 มื้อเราควรทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ใช่ว่า ทานเค็มทั้ง 3 มื้อ ทานหวานทั้ง 3 มื้อ หรือทานอาหารมันๆ ทั้ง 3 มือ อันนี้ก็ไม่ดีต่อร่างกายเท่าไหร่นัก เราควรจะมีมื้อสุขภาพสักมื้อนึง อย่างเช่น สลัดผัก แซนวิสเพื่อสุขภาพ หรือเมนูที่มีผัก มีผลไม้เยอะๆ ซึ่งปัจจุบันหาซื้อได้ง่าย และหลากหลายขึ้น
ตรงนี้ก็จะช่วยในการระบาย ขับของเสียในร่างกายให้เราได้ดีขึ้นครับ รวมถึงอาหารพวกนี้นั้น สิทธิ์ในการปรุงนั้นเป็นของเรา ฉะนั้นเราสามารถควบคุมได้ว่าเราจะปรุงมาก ปรุงน้อย อย่างไรครับ
สรุปคือใน 3 มื้อ เราควรจะมีมื้อสุขภาพสักมื้อนึงจะดีที่สุดครับ ถือว่าได้ช่วยร่างกายไปอีกทางหนึ่งครับ
ข้อมูลจาก
ผศ. นพ.เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล