โรคต้อหินเป็นภัยเงียบสาเหตุที่ทำให้ตาบอดของประชากรในไทยและทั่วโลกคิดเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก คิดเป็นจำนวนคน 4.5 ล้านคนทั่วโลกที่ตาบอดจากโรคนี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 ล้านคนในปี 2020
โรคต้อหิน
เป็นภาวะเสื่อมของเส้นประสาทตา อาจมีความดันสูงหรือไม่สูงก็ได้ โดยทั่วไปมักไม่มีอาการ เริ่มต้นจากการมองไม่เห็นด้านข้าง และค่อยๆ แคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมองไม่เห็นทั้งหมด แต่คนส่วนใหญ่หากเป็นระยะเบื้องต้นจะไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่ออาการหนักแล้วทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ความน่ากลัวของโรคนี้คือไม่ออกอาการในระยะเบื้องต้น เปรียบเสมือนภัยเงียบที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ไม่ทันการและตาบอดในที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดได้โรคต้อหิน
ได้แก่ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรรม โดยเฉพาะญาติสายตรง อุบัติเหตุที่ตา เคยผ่านการผ่าตัดที่ดวงตา การอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ในม่านตา หรือการใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ที่ซื้อด้วยตนเอง เมื่อใช้เป็นเวลานาน ทำให้ความดันตาขึ้นแล้วกลายเป็นต้อหินได้
ต้อหินมี 2 ประเภท ได้แก่
ต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด โดยต้อหินมุมเปิดจะพบได้มากกว่าต้อหินมุมปิด ซึ่งอาการของต้อหินมุมเปิด คือลักษณะที่มุมตาไม่ถูกปิดโดยม่านตา แต่มุมตาจะผิดปกติในโครงสร้างด้านใน คนไข้จะไม่มีอาการ ความดันตาจะค่อยๆ ขึ้น และลานสายตาจะค่อยๆ แคบลง เมื่อมาพบแพทย์จะมีอาการหนักแล้ว เช่น การเห็นภาพมัว มองไม่เห็น เดินชนวัตถุต่างๆ เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนต้อหินมุมปิด มุมตาจะถูกปิดโดยม่านตา ต้อหินประเภทนี้ความดันตาจะขึ้นเฉียบพลันและขึ้นสูงมาก คนไข้จะปวดตา ตาแดง ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้พบแพทย์ได้เร็วกว่าแบบแรก
วิธีการรักษา
สามารถรักษาได้โดยให้ยาหยอดเพื่อควบคุมความดันตา บางกรณีมีข้อบ่งชี้ให้ทำเลเซอร์ ถ้าเป็นประเภทต้อหินมุมปิด วิธีการรักษาด้วยเลเซอร์จะใช้เป็นการรักษาหลักมากกว่าการหยอดตา แต่สามารถทำร่วมกันได้ และถ้าหากทำทั้งสองวิธีแล้วไม่สำเร็จก็จะมุ่งไปที่การผ่าตัด เป็นการระบายน้ำในลูกตา โดยแพทย์จะเปิดแผลตรงเยื่อบุตาแล้วเจาะทางระบายให้น้ำในลูกตาออกมา
วิธีการที่เหมาะสมที่สุด
คนไข้ควรรู้ตัวก่อนในระยะเบื้องต้นเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันการ จากสมาคมต้อหินได้แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองคนไทยที่มีอายุ 40 ปี แต่ถ้าในคนไทยที่มีความเสี่ยง เช่น มีญาติเป็นต้อหิน มีพฤติกรรมการใช้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ หรือในคนที่เป็นเบาหวาน ภูมิแพ้ตนเอง เป็นต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยเร็ว
ข้อมูลจาก
อ. พญ.ญาณิน สุวรรณ
สาขาวิชาต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล