ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญทางสาธารณสุขที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแล เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตวายระยะสุดท้าย พื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับการควบคุมความดันโลหิตสูง ได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและการรักษาโดยการรับประทานยา การดูแลสุขภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงมีสุขภาพที่ดีและสามารถอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข
ความหมายของความดันโลหิต
“ความดันโลหิต” เป็นแรงดันที่ผลักต้านภายในหลอดเลือดในระบบไหลเวียนโลหิต มีค่าตัวเลข 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตซีสโตลิก เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ความดันโลหิตไดแอสโตลิก เป็นค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว
ดังนั้นการรายงานผลความดันโลหิตจึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ความหมายของค่าความดันโลหิตแต่ละระดับ
- ความดันโลหิตซีสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)
- น้อยกว่า 120 ความดันโลหิตปกติ
- 120-139 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
- 140 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
- ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)
- น้อยกว่า 80 ความดันโลหิตปกติ
- 80-89 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
- 90 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามจากการแนวปฏิบัติสำหรับการป้องกัน การค้นหา การประเมินและการจัดการของระดับความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ ปี ค.ศ.2017 ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดตัดของการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง โดยใช้จุดตัด 130/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากแนวปฏิบัติดังกล่าว
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยร่วมบางอย่างที่ทำให้ความดันโลหิตสูง โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ พันธุกรรมและพฤติกรรม และน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือการเกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น
การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- อาหาร
หากรับประทานเนื้อสัตว์ ควรเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพราะผลไม้หลายชนิดมีรสหวาน หากเลือกรับประทานนมควรเป็นนมไขมันต่ำ
- การออกกำลังกาย
ควรเลือกออกกำลังกายแบบแอโรบิค(Aerobic exercise) หรือการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ระดับการออกกำลังกายที่สามารถออกได้ คือเบาถึงปานกลาง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักหรือหักโหม
- บุหรี่และสุรา
ควรงดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา เนื่องจากทั้งบุหรี่และสุราส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพและระดับความดันโลหิต
- การใช้ยา
รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง การรับประทานยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษา
- ควบคุมน้ำหนัก
พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม
ข้อมูลโดย
ผศ. ดร.สิริรัตน์ ลีลาจรัส
อาจารย์พยาบาล โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล