อาการคันตามผิวหนัง สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคันก็คือ การติดเชื้อจากเชื้อรา จำเป็นต้องได้รับการรักษา ซึ่งก่อนได้รับการรักษา จะต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนที่จะได้รับการรักษา เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและตรงกับโรค
อาการคันเกิดจากอะไร
สาเหตุของอาการคัน อาจเกิดได้จากหลายๆสาเหตุ เช่น การแพ้สารเคมี ได้แก่ ผงซักฟอก ครีมทาผิว การแพ้ยา หรือการติดเชื้อรา ได้แก่ กลาก เกลื้อน สิว (ชนิดที่เกิดจากเชื้อรา) โรคติดเชื้อแคนดิดา ฯลฯ โดยอาจมีผดผื่นขึ้นในลักษณะต่าง ๆ ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน
การติดเชื้อราในรูปแบบต่าง ๆ
การติดเชื้อจากเชื้อราอาจพบได้หลายรูปแบบ แต่อาการที่มักพบได้บ่อย คือ กลาก เกลื้อน และการติดเชื้อแคนดิดา
- กลาก มีลักษณะเป็นวงขาว ๆ ขอบเขตชัดเจน มีอาการคัน พบได้ตามผิวหนังบริเวณหลัง ใบหน้า และลำตัว มักพบในนักกีฬา ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่ไม่ค่อยอาบน้ำ
- เกลื้อน มีลักษณะคล้ายกับกลาก เป็นวงเรียบ ๆ สีขาว หรือสีน้ำตาล หรือสีดำ มักไม่มีอาการคัน นอกจากเหงื่อออกมาก อาจคันเล็กน้อย
- การติดเชื้อแคนดิดา มักพบบริเวณที่อับชื้น เช่น ข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ ลักษณะเป็นผื่นแฉะ สีแดง มีอาการคัน สามารถลามได้ ทั้งยังสามารถพบได้ในช่องปากเหมือนฝ้าขาวบริเวณลิ้น โดยจะพบในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
อาการคันที่เกิดจากการแพ้
สังเกตได้จากการสัมผัสสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนแล้วมีอาการคัน เช่น ครีมบำรุงผิวสูตรใหม่หรือแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยใช้ เป็นต้น หรือการสัมผัสผงซักฟอกครั้งแรก รวมถึงการสัมผัสที่นานเกินไปแม้เคยสัมผัสมาก่อนหน้านี้
อาการคันรักษาได้อย่างไร
อาการคันสามารถรักษาได้ด้วยยา ซึ่งมีหลายชนิดทั้งชนิดกินและชนิดทา และมีตัวยารักษาเกี่ยวกับเชื้อโรคต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดอาการคัน โดยก่อนที่จะรักษาด้วยยาควรรู้ก่อนว่าอาการคันนั้นเกิดจากสาเหตุใดหรือเกิดจากเชื้อชนิดไหน
การรักษาอาการคันจากเชื้อรา
อาการคันที่พบบ่อยเกิดจากเชื้อราชนิดต่าง ๆ สามารถรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อราหลายชนิด เช่น โคไตรมาโซล(clotrimazole) ฟลูโคนาโซล (fluconazole) ไอทราโคนาโซล (itraconazole) โดยหนึ่งในชนิดยาที่รักษาเชื้อรา คือ “คีโตโคนาโซล” (Ketoconazole)
รู้จักกับยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
เป็นยาที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ทั้งชนิดที่ติดเชื้อบริเวณผิวหนัง (กลาก, เกลื้อน ฯลฯ) ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือติดเชื้อในช่องคลอด เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาได้ทั้งคนทั่วไป ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งติดเชื้อราได้ง่าย หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด และใช้ป้องกันในการติดเชื้อราในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคีโตโคนาโซล คือการยับยั้งเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ทำให้เชื้อราไม่สามารถสร้างสารสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบของเชื้อราได้ ส่งผลให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราทำงานผิดปกติไป ตัวเชื้อราจึงค่อย ๆ ตายลงในที่สุด โดยในปัจจุบันยาคีโตโคนาโซลที่พบในท้องตลาดมีประมาณ 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบเม็ด (ชนิดกิน), แบบครีมทาผิว และแบบแชมพู
ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) รักษาสิวได้หรือไม่
สิวมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยยาคีโตโคนาโซลเป็นยาที่ใช้ในการรักษาเชื้อรา ดังนั้นการจะรักษาสิวด้วยยาคีโตโคนาโซล ต้องเป็นสิวที่เกิดจากเชื้อรา จึงจะทำให้การรักษานั้นเกิดประสิทธิภาพ และต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยชนิดของสิวดังกล่าว
คำแนะนำและวิธีการใช้ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- การกินยาคีโตโคนาโซลต้องกินต่อเนื่องจนหมดตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะไม่มีอาการคันแล้วก็ตาม เนื่องจากเชื้อราอาจยังตายไม่หมด
- การกินยาคีโตโคนาโซลเพื่อรักษาเชื้อรา ขนาดยาโดยส่วนใหญ่ คือ กินขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2-3 สัปดาห์ หลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร เนื่องจากตัวยาจะทำงานได้ดีในสภาวะเป็นกรด ในผู้ป่วยที่มีการกินยาลดกรดต้องเว้นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วค่อยกินยาคีโตโคนาโซล
- การทาครีมที่มีตัวยาคีโตโคนาโซล ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2-3 สัปดาห์ หรือทาจนกว่าจะหาย อาจทาต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- การใช้แชมพูที่มีตัวยาคีโตโคนาโซล สระสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2-4 สัปดาห์
- การใช้ยากินและยาทาร่วมกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแต่ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาในการรักษา
- หากมีการติดเชื้อในแผลที่ลึก ยากินรักษาได้ดีกว่ายาทา ส่วนการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ไม่ลึก การใช้ยาทาค่อนข้างเหมาะสมกับการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการรักษา
ข้อควรระวังในการใช้ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ยามีพิษต่อตับ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ
- ควรระมัดระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร
- ระมัดระวังการใช้ยาร่วมกับยาชนิดอื่น
ผลข้างเคียงจากยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ภาวะตับอักเสบ สังเกตได้จากอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม ควรรีบแจ้งแพทย์เมื่อมีอาการหลังใช้ยา
- อาการข้างเคียงอื่น ๆ จากยาชนิดกิน ได้แก่ รู้สึกไม่สบายในท้องเล็กน้อย ง่วงนอน นอนไม่หลับ มึนงง วิงเวียน แต่เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อย ผลข้างเคียงนี้ไม่อันตราย
- อาการข้างเคียงอื่น ๆ จากยาชนิดทา ได้แก่ ระคายเคืองบริเวณที่ทา อาจมีอาการคันเล็กน้อย แต่เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อย ผลข้างเคียงนี้ไม่อันตราย
ข้อมูลจาก
ภญ.ธุรักษร ธุระ
เภสัชกรหน่วยบริการเภสัชกรรม งานเภสัชกรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล