ความเร็วและความสำคัญของรถฉุกเฉินในนาทีชีวิต
รถฉุกเฉินมีความสำคัญในเรื่องของการช่วยชีวิตแบบเร่งด่วน ทำให้ความเร็วของรถฉุกเฉินคือความสำคัญในภารกิจดังกล่าว เพราะทุกวินาทีแสดงถึงความเป็นความตายของผู้ป่วยที่อยู่ภายในรถ ขณะที่หลายครั้งการนำส่งผู้ป่วยให้ถึงโรงพยาบาลด้วยรถฉุกเฉินก็มีอุปสรรคอยู่มากพอสมควร หลายครั้งที่อุปสรรคเหล่านั้นเกิดจากผู้ร่วมใช้ถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ จึงอยากให้ผู้ใช้ถนนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของรถฉุกเฉิน เพื่อการปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม
ความสำคัญของรถฉุกเฉิน
รถฉุกเฉินใช้ในการนำส่งผู้ป่วยสู่โรงพยาบาลด้วยความรวดเร็ว ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ รวมถึงช่วยลดภาวะบาดเจ็บรุนแรงที่อาจเกิดกับคนไข้ให้น้อยลง โดยการใช้รถฉุกเฉินจะต้องพิจารณาว่าคนไข้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วหรือไม่ และสามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลเองได้หรือไม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคทางกายที่อยู่บ้าน จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุและมีอาการสาหัส เช่น มีเลือดออกในช่องท้อง ต้องรีบผ่าตัดเพื่อหยุดเลือดออก หากล่าช้าอาจเสียเลือดมาก เกิดภาวะช็อค และเสียชีวิตได้
อาการที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว แบ่งออกเป็นโรคทางกายและอุบัติเหตุ
อาการของโรคทางกายที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ได้แก่
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หอบหืดกำเริบเฉียบพลัน
อาการของอุบัติเหตุที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ได้แก่
- เลือดออกในช่องท้อง
- เลือดออกในสมอง
- มีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ต้องใช้ Spinal Board รองกระดูกสันหลัง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
- ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ กรณีนี้รถฉุกเฉินไม่สามารถช่วยชีวิตได้
- ผู้ป่วยที่เสียชีวิตได้ภายใน 1-3 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ หากนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว มีโอกาสรอดชีวิต เช่น ผู้ป่วยเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยที่มีลมในช่องอกไปกดเบียดหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการช็อค หรือผู้ป่วยเลือดออกในช่องท้อง เป็นต้น กรณีนี้รถฉุกเฉินสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
อุปสรรคของรถฉุกเฉิน แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ในเมืองและต่างจังหวัด
- พื้นที่ในเมือง การจราจรติดขัดโดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น
- ต่างจังหวัด โรงพยาบาลไม่เยอะเท่าในเมือง ระยะทางจากจุดเกิดเหตุไปถึงโรงพยาบาลค่อนข้างไกล รวมถึงปัญหาเรื่องของถนนที่อาจไม่เอื้ออำนวยเท่าในเมือง
ข้อมูลโดย
ผศ. นพ.ปุงควะ ศรีเจริญ
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล