คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรรู้เกี่ยวกับอาการครรภ์ไข่ปลาอุก เนื่องจากมองภายนอกเหมือนการตั้งครรภ์ธรรมดาแต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีทารกอยู่ในครรภ์ดังกล่าว อีกทั้งยังสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น หรือปล่อยทิ้งไว้จนถึงระยะลุกลาม
ครรภ์ไข่ปลาอุกคือ
เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ โดยทั่วไปเมื่ออสุจิผสมกับไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนและรก แต่ครรภ์ไข่ปลาอุกจะไม่มีตัวอ่อน มีแต่รกกับถุงน้ำลักษณะคล้ายไข่ปลา จึงเรียกว่าครรภ์ไข่ปลาอุก โดยในครรภ์จะไม่มีทารกและไม่สามารถพัฒนาไปเป็นทารกได้ เป็นความผิดปกติภายในไข่ของคุณแม่ที่ไม่มีสารพันธุกรรม ทำให้เมื่อสเปิร์มเข้าไปผสมแล้วเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติไป กลายเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกที่ไม่มีทารกแต่มีถุงน้ำจำนวนมากเกิดขึ้น
สาเหตุของการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยไปเลยหรืออายุมากไปเลย ได้แก่ ในการตั้งครรภ์ของกลุ่มวัยรุ่น และการตั้งครรภ์ของหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ความอันตรายของไข่ปลาอุกคือสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ พบ 1 ใน 5 หากกลายเป็นมะเร็งและได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นมีโอกาสหายได้ 100% แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้จนถึงระยะลุกลามจะทำให้รักษาได้ยาก
การรักษาอาการครรภ์ไข่ปลาอุก
คือการดูดเม็ด ๆ ในครรภ์ออกให้หมด โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยดมยาสลบและใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์มีลักษณะเป็นท่อขนาดประมาณหลอดดูดไข่มุกเข้าไปดูดเอาเม็ด ๆ ออกมาจนหมด หลังจากนั้นยังต้องเฝ้าดูอาการว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยแพทย์จะนัดทุก 2 สัปดาห์ และมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหามะเร็ง ระยะนี้ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ต้องเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้ทราบว่าไม่เป็นมะเร็ง จึงสามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง และหากพบว่ามีมะเร็งเกิดขึ้น แพทย์จะรักษาด้วยการเคมีบำบัด
วิธีการสังเกตอาการครรภ์ไข่ปลาอุก
หากพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมากกว่าการแพ้ท้องทั่วไป รวมถึงมีความดันสูงตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ (ในครรภ์ปกติจะมีภาวะความดันสูงช่วงอายุครรภ์มาก) ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก ควรพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูอาการ หากพบถุงน้ำเล็ก ๆ ในโพรงมดลูกแทนเด็กทารก แพทย์จะทำการดูดออก และควรดูดออกโดยเร็ว ไม่ควรเก็บไว้ เพราะจะทำให้เป็นอันตรายต่อคุณแม่ได้
ในคนที่เคยเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกมีโอกาสเกิดซ้ำได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่ทันที ไม่ควรปล่อยไว้
ข้อมูลจาก
รศ. พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข
สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล