ข้อไหล่ติด อีกหนึ่งอาการป่วยที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ไม่ใช่โรคร้ายที่รุนแรง แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของการหยิบจับวัตถุที่ต้องยกไหล่ การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร หรือการใส่เสื้อผ้า แต่สามารถรักษาให้หายได้ หากปฏิบัติถูกวิธี หรือได้รับการรักษาที่เหมาะสม ครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อไหล่ติดในเรื่องของอาการแต่ละระยะ การรักษา การปฏิบัติตน รวมถึงปัจจัยเสี่ยง
ข้อไหล่ติด อาการเป็นอย่างไร?
เป็นอาการที่ไม่สามารถยกแขนได้สุด หากยกแขนจนถึงระดับเกือบเต็มที่จะรู้สึกปวด โดยอาการข้อไหล่ติดจะเกิดทุกทิศทางในการเคลื่อนไหว ทั้งไปข้างหน้า ด้านข้าง หรือข้างหลัง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ข้อไหล่ติด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะปวด โดยจะมีอาการปวดมาก แม้ยกไหล่เพียงนิดเดียว ในระยะนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 2-9 เดือน
- ระยะข้อไหล่ติด โดยจะมีพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง มักจะมีอาการปวดตึงไหล่เมื่อขยับไหล่ใกล้สุด ทำให้มีปัญหาเรื่องการใช้งาน เช่น การรับปรปวดไหล่, ไหล่ะทานอาหาร อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในระยะนี้นานแตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปีครึ่ง
- ระยะฟื้นคืนตัว เมื่อผ่านระยะติดมาแล้วจะเข้าสู่ระยะฟื้นคืนตัว โดยธรรมชาติจะรักษาตัวเอง อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1-3 ปี
หลักการรักษาข้อไหล่ติด
- ให้ยาลดปวด อาจเป็นยากินหรือยาชนิดฉีด
- กายภาพบำบัด ผู้ป่วยต้องทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ระยะแรกที่มีอาการจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
- ผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยบางรายที่รักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ
- การออกกำลังกาย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อไหล่ติด
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับความอ้วน โรคไทรอยด์
- ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวน้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
- เคยประสบอุบัติเหตุที่ข้อไหล่ มีภาวะเส้นเอ็นบริเวณไหล่ฉีกขาด
ข้อมูลโดย
อ. นพ.กุลพัชร จุลสำลี
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
คลิกชมคลิปรายการ “”ไหล่ติด”แต่ละระยะและปัจจัยเสี่ยงที่ควรรู้! : พบหมอรามา ช่วง RamaHealthTalk” ได้ที่นี่
YouTube: https://youtu.be/lVLsfVQBWiM