3-01
หน้าแรก
ข้อควรรู้โรคมะเร็งปากมดลูก
ข้อควรรู้โรคมะเร็งปากมดลูก

ในปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย และมีปัญหาในด้านการรักษามาก ทั้งๆ ที่มะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจพบในระยะแรกเริ่ม ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะแรก

โรคนี้เป็นอย่างไร วันนี้เรานำบทสนทนาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วิไล เบญจกาญจน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสูตนรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมเกียรติ ศรีสุพรรณดิฐ ภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้อ่านกันกับ 13 ข้อควรรู้ เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก

13 ข้อควรรู้ เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก คือ

1. ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก ?

เนื่องจากโรคนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย หรือเปลี่ยนคู่บ่อย จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มาก รวมถึงผู้หญิงที่มีลูกมาก มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย ก็มีโอกาสเสี่ยงด้วย

2. ผู้หญิงขายบริการมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้หญิงทั่วไปใช่หรือไม่ ?

ใช่ ข้อนี้มีการยืนยันอย่างชัดเจน

3. แล้วผู้หญิงที่มีลูกมากมีโอกาสเสี่ยงขนาดไหน ?

ส่วนใหญ่คนที่มีลูก 2-3 คน ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได

4. หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจะเป็นโรคนี้ได้หรือไม่?

เป็นได้ แต่เป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบได้น้อยและไม่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ ปกติมะเร็งปากมดลูกนั้นมี 2 ชนิด ชนิดที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปและพบบ่อยที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์เสียส่วนใหญ

5. ว่ากันว่า ผู้ชายที่ขริบปลายอวัยวะเพศตามประเพณีนั้น จะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้น้อยจริงหรือไม่?

จริง แต่คงไม่ใช่เพราะการขริบอวัยวะเพศชายเพียงอย่างเดียว อาจจะเพราะการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องตามธรรมชาติ ไม่บ่อยเกินไป หรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ด้วย

6. ช่วงอายุเท่าไรจะเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้มากที่สุด?

พบบ่อยที่สุดก็ในช่วงอายุ 40-60 ปี คือ ในระยะใกล้วัยหมดประจำเดือนและระยะหลังวัยหมดประจำเดือนใหม่ๆ อายุที่น้อยที่สุดที่พบ ถ้าเป็นชนิดที่ลุกลามมีอาการแล้ว คือ อายุ 20 ปี ถ้าชนิดระยะแรกเริ่มที่ยังไม่มีอาการก็อายุ 18-19 ปี แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก

7. สาเหตุเกิดจากอะไร?

ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากเรื่องของเพศสัมพันธ์ คือมีสัมพันธ์ทางเพศเยอะเกินไป หรือมีลูกมาก และโรคนี้ยังไม่ยืนยันว่า เป็นเพราะกรรมพันธุ์ และไม่มีการติดต่อไปยังคนอื่น เหมือนโรคติดต่ออื่นๆ

8. จะรู้ได้ไงว่า เป็นมะเร็งปากมดลูก ?

ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มที่ยังไม่ลุกลามออกไป ที่หมอเรียกว่า “มะเร็งระยะแรกเริ่ม (Carcinoma in situ)” นั้น คนไข้จะไม่มีอาการอะไรเลยทั้งสิ้น ตรวจพบโดยวิธีตรวจช่องคลอดหามะเร็งระยะแรกเริ่มที่เรียกกันว่า การตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ส่วนอาการที่เราสามารถสังเกตได้เองซึ่งเป็นอาการของระยะลุกลามก็ คือ อาการตกขาวหรือการมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังร่วมเพศใหม่ๆ และมีเลือดออกกกะปริดกะปรอย

9. ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกทุกคนไหม?

อันที่จริงผู้หญิงทุกคนควรจะได้รับการตรวจเมื่อมีความสัมพันธ์ทางเพศแล้ว บุคคลที่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมาตรวจ คือ คนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อย คนที่มีลูก 2-3 คนขึ้นไป และคนที่มีอาการอักเสบของปากมดลูก ตกขาว เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง

10. ควรไปตรวจทุกปีไหม ?

แต่ก่อนแนะนำให้ตรวจทุกปี แต่เดี๋ยวจะเน้นในคนที่มีอัตราเสี่ยงสูงตามที่กล่าวข้างต้น นอกนั้นให้มาตรวจ 2-3 ปีครั้ง ก็ได้ แต่หากมาตรวจได้ปีละครั้งก็จะดีที่สุด

11. การรักษามีกี่วิธี?

มี 2 วิธีคือ การผ่าตัด กับ การใช้รังสีรักษา (ฝังแร่กับฉายแสง) จะวิธีไหน ขึ้นกับระยะของโรค

  • ถ้าเป็น ระยะ 0 คือระยะแรกเริ่มก่อนมีอาการใช้วิธีผ่าตัดเพียงอย่างเดียว สามารถหายขาดได้เกือบ 100%
  • ถ้าเป็น ระยะที่ 1 ใช้การผ่าตัดหรือฝังแร่และฉายแสง
  • ถ้าเป็น ระยะที่ 2, 3 และ 4 ใช้วิธีฉายแสง แล้วตามด้วยการฝังแร่

12. โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม?

รักษาให้หายขาดได้ คนส่วนใหญ่ มักจะคิดว่า การเป็นมะเร็ง คือ ต้องตาย แต่ความจริงทุกระยะมีโอกาสหายขาดได้ และถึงแม้ไม่หายขาดการรักษาก็จะช่วยลดความทุกข์ทรมาน ย่อมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน

13. ค่ารักษาแพงไหม?

ปกติแล้วมีค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ปัจจุบันการรักษาโรงพยาบาลของรัฐ ทางโรงพยาบาลมีแผนกประชาสงเคราะห์ ก็สามารถทำการรักษาให้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่า จะเป็นการผ่าตัด หรือฉายแสง

อย่างไรก็ตามเราควรทำการป้องกันในเรื่องของเพศสัมพันธ์ ต้นเหตุของโรคนี้ก่อนจะดีที่สุด เพราะจะทำให้ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น โรคมะเร็งปากมดลูก ได้

 

ข้อมูลจาก
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวิไล เบญจกาญจน์
อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสูตนรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ ศรีสุพรรณดิฐ
ภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8

กระดูก โรคกระดูกพรุน
กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย เป็นอาการของ โรคกระดูกพรุน ที่หากปล่อยไว้นานอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
บทความสุขภาพ
14-03-2024

12