อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย มีคนไม่น้อยชอบทาน แต่อาหารเหล่านี้หากทานบ่อย ๆ สามารถส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบทำมาจากเนื้อสดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก จึงก่อให้เกิดแหล่งสะสมของเชื้อโรคพยาธิและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “ โรคพยาธิใบไม้ปอด ” ได้
โรคพยาธิใบไม้ปอด เกิดจาก อะไร ?
โรคพยาธิใบไม้ปอด (paragonimiasis) เกิดจากการติดเชื้อพยาธิตัวแบนคล้ายใบไม้ที่พบได้ในกุ้งหรือปูน้ำจืด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ จะมีตัวอ่อนของพยาธิอาศัยอยู่ ซึ่งเมื่อทานเข้าไป อาจทำให้ได้รับเชื้อได้ เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายจะชอนไชทะลุผนังลำไส้และเข้าไปฝังตัวที่ปอด ทำให้เกิดโรคที่ปอด และเป็นที่มาของโรคพยาธิใบไม้ปอด แล้วโรคพยาธิใบไม้ปอด เกิดจาก กินของดิบบ่อย ๆ จริงหรือ รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ – รับประทานอาหารดิบ เสี่ยง ! โรคพยาธิในปอด
โรคพยาธิใบไม้ปอดติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่ ?
โรคพยาธิใบไม้ปอดติดต่อทางการทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบโดยเฉพาะสัตว์น้ำจืด เช่น กุ้ง ปู และไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง แต่หากผู้ที่มีพยาธิใบไม้ปอดในลำไส้ขับถ่ายในแหล่งน้ำสาธารณะที่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ จะสามารถเป็นพาหะส่งต่อพยาธิไปยังผู้อื่นได้
อาการของโรคพยาธิใบไม้ปอด
เมื่อพยาธิชอนไชเข้าไปอยู่ในปอดจะทำให้มีอาการ ดังนี้
- เจ็บหน้าอก
- ไอเรื้อรัง
- มีเลือดปนออกมากับเสมหะ
- เหนื่อยง่าย
- ปวดท้อง ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
นอกจากนี้พยาธิอาจจะชอนไชไปอยู่อวัยวะภายในอื่น ๆ ได้ เช่น ตับ ลำไส้ กล้ามเนื้อ เยื่อบุช่องท้อง และสมอง ทำให้เกิดอาการที่ผิดปกติตามอวัยวะเหล่านี้
โรคพยาธิใบไม้ปอด มีอาการอย่างไร
เริ่มต้นจากการได้รับเชื้อพยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านการกิน กึ่งสุกกึ่งดิบ ตัวพยาธิในลำไส้จะชอนไชเข้าผนังลำไส้และทะลุออกไปที่ช่องท้อง ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ในบางรายอาจคลำพบก้อนในท้องหรือตรวจพบพยาธิในตับและตับอ่อน อาจส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโตและอักเสบ
จากนั้นพยาธิจะชอนไชเข้าสู่ปอดแล้วเจริญเติบโตเป็นพยาธิที่โตเต็มวัย การที่พยาธิอาศัยอยู่ในปอดนั้นทำให้เนื้อปอดเกิดการอักเสบ มีเลือดออก ส่งผลให้ร่างกายสร้างพังผืดล้อมรอบตัวพยาธิกลายเป็นถุงหุ้มพยาธิ มีลักษณะเป็นก้อนที่ภายในอาจพบพยาธิอาศัยเป็นคู่หรือมากกว่านั้น
เมื่อพยาธิออกไข่ ถุงหุ้มพยาธิในปอดจะแตกทำให้ไข่ของพยาธิออกมาทางหลอดลม ส่งผลให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ หลอดลมจึงเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยระยะนี้มักมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง หรือมีเลือดปนออกมากับเสมหะ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง พยาธิตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัยอาจชอนไชเข้าไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น ดวงตา กล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง ตับ ไต ลำไส้ แต่ที่พบบ่อยคือพยาธิในสมอง ทำให้ผู้ป่วยระยะนี้มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ตาพร่า เป็นอัมพาตได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เป็นคือ โรคพยาธิใบไม้ปอด ?
อาศัยอาการและปัจจัยเสี่ยงที่เข้าได้ ร่วมกับการตรวจเสมหะ น้ำล้างหลอดลมและถุงลมฝอย น้ำไขสันหลัง รวมถึงอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิ และอาจตรวจเลือดเพื่อดูชนิดของเม็ดเลือดขาว eosinophil ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อยพยาธิดังกล่าว นอกจากนั้นยังสามารถตรวจภาพรังสีปอดเพื่อดูรอยโรคที่ปอด
การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ปอด
การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ปอดสามารถทำได้ ดังนี้
- ทานอาหารที่สุกและสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบโดยเฉพาะกุ้ง ปู ปลาน้ำจืด
- งดการขับถ่ายในแหล่งน้ำสาธารณะ ป้องกันการแพร่กระจายของโรค
การรักษา โรคพยาธิใบไม้ปอด
การรักษาโรคพยาธิใบไม้ปอด ทำได้โดยการให้ยาฆ่าพยาธิและรักษาตามอาการ
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel