การให้ยาสลบก่อนผ่าตัด ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด ผู้ป่วยต้องได้รับการระงับความรู้สึก อาจเป็นการดมยาสลบหรือให้ยาชาเฉพาะส่วน ทั้งนี้เพื่อให้การเข้ารับการระงับความรู้สึกมีความปลอดภัย ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวดังนี้
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการระงับความรู้สึก
- งดอาหารและน้ำ
- แจ้งวิสัญญีแพทย์ให้ทราบถึงโรคประจำตัวและยาที่รับประทานประจำ รวมถึงประวัติการแพ้ยาแพ้อาหาร
- งดแต่งหน้าและทาครีมบริเวณใบหน้า
- หากทาเล็บต้องลบสีเล็บก่อนเข้ารับการระงับความรู้สึก
การงดน้ำงดอาหารก่อนการระงับความรู้สึก
ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการระงับความรู้สึกจะต้องงดน้ำงดอาหารเพื่อป้องกันการสำลักอาหารในขณะที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว โดยมีระยะเวลางดตามชนิดอาหารดังนี้
- งดอาหารมื้อหลัก เช่น ข้าวไข่เจียว 8 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ
- งดอาหารมื้อเบา เช่น โจ๊ก และเครื่องดื่มที่ผสมนมหรือมีกากใย 6 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ
- งดนมแม่ 4 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ
- งดน้ำเปล่าและเครื่องดื่มใส ไม่มีกากใย เช่น กาแฟดำ 2 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ
หากเผลอรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มในช่วงเวลาที่ต้องงด ให้ผู้ป่วยแจ้งแพทย์หรือพยาบาลถึงชนิดของอาหาร ปริมาณที่รับประทาน และเวลาที่รับประทาน เพื่อจัดเวลาผ่าตัดใหม่ให้เหมาะสมและปลอดภัยกับสภาวะของผู้ป่วย การไม่แจ้งแพทย์หรือพยาบาลว่ารับประทานอาหารในช่วงงดอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายคือการสำลักอาหารลงปอด เกิดปอดอักเสบรุนแรงได้
การใช้ยาประจำตัวก่อนเข้ารับการระงับความรู้สึก
ผู้ป่วยที่เข้ารับการระงับความรู้สึกต้องแจ้งให้วิสัญญีแพทย์ทราบถึงยาประจำตัวชนิดที่รับประทานอยู่ เพื่อให้แพทย์สั่งหยุดยาที่ต้องหยุดก่อนผ่าตัด หรือจ่ายยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่องถึงเช้าวันผ่าตัด โดยวิสัญญีแพทย์จะบันทึกลงในเวชระเบียน เพื่อให้พยาบาลจัดยาได้อย่างถูกต้องในเช้าวันผ่าตัด หากผู้ป่วยไม่ได้พักที่โรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด แพทย์จะเขียนชื่อยาที่ต้องหยุดก่อนผ่าตัดและที่ต้องรับประทานต่อเนื่องจนถึงเช้าวันผ่าตัดให้ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาได้อย่างถูกต้องในช่วงก่อนผ่าตัด ทั้งนี้ ในการรับประทานยาในเช้าวันผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้ในปริมาณที่น้อยที่สุดที่สามารถกลืนยาได้เท่านั้น
งดแต่งหน้าและทาครีมทุกชนิดก่อนผ่าตัด
ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการระงับความรู้สึกจะต้องงดแต่งหน้าและทาครีมบริเวณใบหน้า และต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเหตุผลของการงดแต่งหน้า มีดังนี้
- บางกรณีต้องใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจ ซึ่งต้องติดเทปบนใบหน้าบริเวณรอบปาก เพื่อยึดให้อุปกรณ์อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หากแต่งหน้าหรือทาครีม จะทำให้เทปกาวของอุปกรณ์ติดไม่อยู่ และเสี่ยงต่อการเลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมระหว่างผ่าตัด ซึ่งเป็นอันตรายได้
- โดยปกติร่างกายคนเราเมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำลง สีปากจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ และระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะต้องสังเกตสีปากผู้ป่วยเสมอ แต่ถ้าหากคนไข้ทาปาก จะทำให้ไม่สามารถสังเกตสีปากของคนไข้ได้ และอาจเป็นอันตราย
- ระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะทำการปิดตาผู้ป่วยให้สนิท ป้องกันอาการตาแห้งและกระจกตาเป็นแผล จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทาเปลือกตา ซึ่งมีผลต่อการปิดตา
กรณีทาเล็บต้องลบสีเล็บออกก่อนดมยาสลบ
ก่อนการระงับความรู้สึก วิสัญญีแพทย์จะทำการวัดค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วย โดยวิธีการยิงแสงผ่านปลายนิ้วมือผู้ป่วย ซึ่งการทาเล็บทำให้การวัดค่าออกซิเจนคลาดเคลื่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลบสีเล็บก่อนเข้ารับการระงับความรู้สึก
ข้อมูลโดย
อ. พญ.ศศิชล พฤกษวิวัฒน์
วิสัญญีแพทย์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล