ศัลยกรรมจมูก
หน้าแรก
การศัลยกรรมจมูกที่ปลอดภัย เป็นอย่างไร
การศัลยกรรมจมูกที่ปลอดภัย เป็นอย่างไร

การศัลยกรรมจมูกกลายเป็นเทคนิคเสริมความงามยอดนิยม ซึ่งทำได้โดยการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนเข้ารับการศัลยกรรมจมูกต้องศึกษาข้อมูลหลายอย่าง เพื่อเตรียมตัวให้เหมาะสมสู่การศัลยกรรมบนพื้นฐานของความปลอดภัย

การศัลยกรรมจมูกแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่

  1. การใช้เนื้อเยื่อตัวเองและการใช้วัสดุภายนอก เนื้อเยื่อตัวเองที่ใช้ในการเสริมจมูก เช่น กระดูกซี่โครง ไขมัน กระดูกอ่อนหลังหู เป็นต้น
  2. การใช้วัสดุภายนอกคือการใช้ซิลิโคน ซึ่งจะได้รับความนิยมมากกว่าการใช้เนื้อเยื่อ เนื่องจากการใช้ซิลิโคนมักได้รูปร่างที่ต้องการมากกว่า แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือซิลิโคนแบบแท่งและซิลิโคนแบบบล๊อก และซิลิโคนที่ถูกนำมาใช้ในการศัลยกรรมจมูกนั้นจะต้องเป็นซิลิโคนเฉพาะที่มีเกรดทางการแพทย์ (Medical grade)

ก่อนทำศัลยกรรมจมูกสิ่งที่จะต้องศึกษา

คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น แพทย์ที่จะทำ สถานที่ที่จะเข้ารับบริการ วิธีการเสริม การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด การดูแลหลังผ่าตัด เป็นต้น และควรใช้วิจารณญาณในการแยกแยะระหว่างข้อมูลจริงและข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ

ซิลิโคนที่ใช้ในการเสริมจมูกมีทั้งแบบนิ่มและแบบแข็ง

หากคนไข้มีผนังจมูกบางควรใช้ซิลิโคนแบบนิ่ม เพราะถ้าใช้แบบแข็งอาจทำให้เกิดการทะลุ และถ้าหากคนไข้มีผนังจมูกที่หนาควรใช้ซิลิโคนแบบแข็ง เพราะถ้าใช้แบบนิ่มจะทำให้มองไม่ออกว่ามีการเสริมจมูกหรือมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปจมูก

สิ่งที่อันตรายที่สุดของการศัลยกรรมจมูกคือ

การเสริมจมูกแบบฉีด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์และผิดกฏหมาย เมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถรักษาหรือเอาออกได้ เนื่องจากมีการแทรกซึมและกระจายอยู่ทั่ว โดยผลข้างเคียงของการเสริมจมูกแบบฉีดที่พบบ่อยคืออาการบวมแดงที่เกิดจากการอักเสบ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ขั้นตอนการเสริมจมูก

  1. คนไข้กินยานอนหลับแล้วนอนลงบนเตียง
  2. แพทย์ทำการฉีดยาชา
  3. แพทย์ทำการตรวจสอบความพร้อมร่างกายของคนไข้
  4. แพทย์ทำการตรวจสอบความชาของร่างกายคนไข้
  5. แพทย์เริ่มลงมีดเพื่อทำการผ่าตัด โดยตำแหน่งของการผ่าตัดจะอยู่ในรูจมูกส่วนปลายของจมูกแถวขนจมูก
  6. แพทย์ทำการเลาะแผลผ่าตัดเพื่อให้มีขนาดรองรับกับขนาดของซิลิโคน
  7. ใส่ซิลิโคนเข้าไปที่บริเวณดังกล่าว

การดูแลหลังผ่าตัด

  1. ประคบเย็น 4-5 วันหลังผ่าตัด เพื่อให้เลือดหยุดไหล หากไม่ประคบเย็นจะทำให้เกิดเลือดออกและมีพังผืดเกิดขึ้น ส่งผลให้จมูกเบี้ยวได้
  2. ดูแลแผลในโพรงจมูกด้วยไม้พันสำลีเช็ดน้ำเกลือ อย่าใช้แอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือยาฆ่าเชื้อโรคที่แสบรุนแรง
  3. หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีฝุ่นละอองมากประมาณ 1 สัปดาห์ ป้องกันการไอหรือจาม
  4. พบแพทย์ตามนัดเพื่อตัดไหม
  5. สามารถนอนตะแคงได้ ไม่ทำให้ซิลิโคนเคลื่อนที่ เพราะโดยปกติแล้วแพทย์จะทำการติดเทปเอาไว้เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่อยู่แล้ว แต่ให้หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่ตนเองแพ้ และอาหารที่ทำให้หน้าบวมแดง เช่น อาหารที่ร้อนจัด อาหารที่มีรสเผ็ด อาหารรสเค็ม แอลกอฮอล์ บุหรี่ เป็นต้น

การระวัง

  1. หลังผ่าตัดภายในเวลา 1 เดือน ห้ามให้เกิดการกระแทกที่บริเวณจมูกเด็ดขาด เช่น หลีกเลี่ยงการชน หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก เช่น บอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ หลังจาก 1 เดือนจมูกจะเข้าที่แล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  2. ห้ามแคะ แกะ เกา หรือขยี้บริเวณจมูก เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ

การแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  1. จมูกเบี้ยว เนื่องจากการเสริมแท่งซิลิโคนในขนาดที่ใหญ่เกินไป หรือเกิดจากการบกพร่องของการติดเทปในช่วงสัปดาห์แรก ทำให้ซิลิโคนลอยและมีโอกาสบิดซ้ายขวาสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมมาก วิธีการแก้ไขคือผ่าตัดใหม่ โดยแพทย์จะเอาแท่งซิลิโคนเก่าออกแล้วให้คนไข้พักจมูกสัก 2-3 เดือน เพื่อทำการเสริมซิลิโคนแท่งใหม่เข้าไป
  2. ซิลิโคนทะลุ มีสาเหตุมาจากการเสริมแท่งซิลิโคนที่ขนาดใหญ่เกินไปหรือซิลิโคนอยู่ในช่องที่ไม่มั่นคง ทำให้เลื่อนไปมาและเกิดการทะลุได้ วิธีการรักษาคือผ่าตัดใหม่โดยให้คนไข้พัก 2-3 เดือน ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาตั้งแต่ในขั้นของซิลิโคนเกือบทะลุ คือเมื่อเริ่มมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น หรือผนังเริ่มบางใสจนมองเห็นแท่งซิลิโคน

การเสริมจมูกที่ปลอดภัยจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ ไม่ควรเสริมขนาดที่ใหญ่เกินไปเพราะจะทำให้เกิดการแทรกซ้อนได้ เช่น จมูกเบี้ยวหรือซิลิโคนทะลุ ควรเลือกขนาดแท่งที่พอดีกับใบหน้าและจมูกเดิม เพื่อลดความเสี่ยง ที่สำคัญควรปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

 

ข้อมูลจาก
ผศ. นพ.เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “สวยศาสตร์ EP.4 | ศัลยกรรมเสริมจมูก ทำอย่างไรถึงจะสวยอย่างปลอดภัย” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

6